‘Khaki Capitalism’ ทุนสีกากี สารตั้งต้นหายนะการเมืองไทยในสายตา ‘พิธา’

‘Khaki Capitalism’ ทุนสีกากี สารตั้งต้นหายนะการเมืองไทยในสายตา ‘พิธา’

รู้จัก “Khaki Capitalism” ทุนสีกากี-ทุนทหาร ต้นตอฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยติดหล่ม “พิธา” ชี้ นำทหารออกจากการเมืองคือเป้าหมายหลัก แม้เผชิญแรงต้านแต่ระยะยาวทุกฝ่ายได้ประโยชน์ นำประเทศเดินหน้าสู่ทางออกท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจโลกได้

Key Points:

  • หลังจากที่ประชุมสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โหวตนายกฯ รอบที่ 2 และไม่ได้อยู่ในขั้วรัฐบาลแล้ว หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังคงตระเวนลงพื้นที่พบปะประชาชนรวมทั้งให้สัมภาษณ์กับสื่อนอกด้วย โดยล่าสุด “พิธา” เปิดใจกับ “CNN” กล่าวถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรค ซึ่งพิธาเลือกใช้คำว่า “Khaki Capitalism” หรือทุนนิยมสีกากีในการอธิบายเพิ่มเติม
  • “Khaki Capitalism” หรือ “ทุนสีกากี” ถูกนิยามขึ้นในงานเขียนของ “พอล แชมเบอร์” และ “นภิศา ไวฑูรเกียรติ” มุ่งศึกษาบริบททางการเมืองของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยพบว่า แต่ละประเทศล้วนเผชิญกับอิทธิพลจาก “กองทัพ” ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจ สามารถรักษาอำนาจผ่านเครือข่ายโดยปราศจากการตรวจสอบความโปร่งใส
  • ผู้เขียนหนังสือ “Khaki Capitalism” ระบุว่า “ไทย” เป็นประเทศที่ทหารมีส่วนในการควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจมากที่สุด กองทัพดำรงอยู่ด้วยโครงสร้างแบบ “รัฐคู่ขนาน” และดูเหมือนว่า อำนาจแฝงนี้จะกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ไปอีกยาวนาน

 

ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาแล้ว หลังเสียงโหวตในรอบแรกไม่สามารถส่งถึงเก้าอี้นายกฯ รวมถึงในเวลาต่อมา “พรรคเพื่อไทย” ตัดสินใจแยกทางกับ “พรรคก้าวไกล” ทำให้ขณะนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้มีสถานะอยู่ในขั้วการจัดตั้งรัฐบาลอีกแล้ว ซึ่งภายหลังพิธาได้ออกมาเปิดใจพร้อมกับ “เปิดทาง” ให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 2  คือ “พรรคเพื่อไทย” นำทัพจัดตั้งรัฐบาลพร้อมส่งแคนดิเดตนายกฯ เพื่อการลงคะแนนเสียงครั้งถัดไปในวันที่ 4 สิงหาคมที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม “พิธา” ยังคงได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย มีการจัดขบวนรถแห่-ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนหลายภูมิภาค รวมถึงสื่อต่างชาติเองก็ยังคงฉายสปอตไลต์ไปที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนนี้เช่นกัน โดยล่าสุดพิธาเปิดใจให้สัมภาษณ์ในรายการ “AMANPOUR” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (CNN) ถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังคงคุกรุ่นท่ามกลางสุญญากาศกว่า 2 เดือนที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้รับฉันทามติด้วยคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 ก็ตาม

เนื้อหาการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้มีทั้งการกล่าวถึงภาพรวมของการจัดตั้งรัฐบาล กรณีหุ้นสื่อของพิธา การเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงการปฏิรูปการเมืองไทยที่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ “พิธา” ถูกสกัดขาจากการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีความตอนหนึ่งที่น่าสนใจจากการถูกซักถามถึงกรณีการปฏิรูปกองทัพและการนำทหารออกจากการเมือง

พิธากล่าวถึง “Khaki Capitalism” หรือทุนสีกากี โดยบอกว่า การทลายทุนผูกขาดและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้หมายรวมถึงการที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจาก “ทุนสีกากี” ที่ผูกติดอย่างสนิทแนบแน่นกับระบบการเมืองไทยมาช้านาน

‘Khaki Capitalism’ ทุนสีกากี สารตั้งต้นหายนะการเมืองไทยในสายตา ‘พิธา’

“Khaki Capitalism” ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังแฝงฝังอยู่ภายใต้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจของหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างทรงพลัง กลายเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่ต้องคอยคัดง้างกับทุนสีกากีซึ่งมีความเกี่ยวพันทับซ้อนผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าและบรรดาชนชั้นนำในประเทศ จนหลายครั้งก็ถูกขนานนามว่า ประเทศในลักษณะนี้สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิด “รัฐพันลึก” (Deep State)

  • ปกครอง ควบคุม ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใต้ปีกสีกากี: Khaki Capitalism

“Khaki Capitalism” หรือ “ทุนนิยมสีกากี” ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายจากหนังสือชื่อ “Khaki Capitalism: The Political Economy of The Millitary in Southeast Asia” โดยพอล แชมเบอร์ (Paul Chambers) และนภิศา ไวฑูรเกียรติ โดยเป็นการมุ่งศึกษาบทบาทของกองทัพในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยด้วย

ความหมายของ “ทุนสีกากี” คือ บริบทที่กองทัพหรือทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยมีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ทหารเข้าสู่ถนนสายการเมือง โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มทุนสีกากีเหล่านี้เข้ามามีอำนาจควบคุมความมั่งคั่งและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เมื่อนั้นพวกเขาก็จะมีอิสระในการควบคุมการเมือง ประชาชน รวมถึงตัวแทนจากประชาชนอย่างพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎรด้วย

และถ้าคนกลุ่มนี้ได้เข้ามามีบทบาททั้งสองส่วนแล้ว พวกเขามักไม่ยินยอมที่จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน ตรงกันข้ามกับฝ่ายพลเรือนซึ่งรวมทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและพลเมืองภายในรัฐที่ต้องการความโปร่งใส อันเป็นที่มาของการปฏิรูปกองทัพและการแยกทหารออกจากการเมืองที่ถูกต่อต้านโดย “ทุนสีกากี” โดยใช้ข้ออ้างเรื่องความเป็นอิสระของหน่วยงานกองทัพเพื่อธำรงอำนาจของกลุ่มก้อนตนเองไว้

แม้ “Khaki Capitalism” จะยกประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นกรณีศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หลักคิดดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมโยงไปยังบริบทของภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพราะข้อเสนอของงานชิ้นนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า หลายครั้งแนวโน้มของการค้าเสรีที่มีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้นก็มีความเชื่อมโยงกับการทหารด้วย โดยความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มักคลุมเครือและขาดความชัดเจน

‘Khaki Capitalism’ ทุนสีกากี สารตั้งต้นหายนะการเมืองไทยในสายตา ‘พิธา’

แต่สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วภูมิภาคนี้มีความพิเศษกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองอยู่ในภาวะผันผวนและมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้การต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองอำนาจเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำหมายปอง โดยเฉพาะ “กองทัพ” องค์กรที่ถือครองกำลังอาวุธและมีกำลังคนเป็นจำนวนมากจึงมองว่า ตนเองมีอำนาจต่อรองมากกว่าโดยใช้วาทกรรมเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” มาเป็นข้อแก้ต่างให้การตัดสินใจมีความชอบธรรมมากขึ้น

เมื่อกองทัพเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากร โครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างเศรษฐกิจ หน้าตาของ “ทุนสีกากี” จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ซึ่งเกี่ยวโยงกับการสร้างรายได้จนเกิดเป็น “ธุรกิจกองทัพ” ผูกขาดทั้งอำนาจทางการปกครองและอำนาจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน

  • ทำไม “ทุนสีกากี” จึงเฟื่องฟูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับแรงสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและการทหารจากประเทศยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นที่ต้องการคานอำนาจโดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำหน้าที่เสมือน “ตัวแทน” ซึ่งก็มีทั้งสหรัฐ โซเวียต และจีน ที่คอยส่งความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจเข้าไปตามเส้นทางของกองทัพในประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ทุนสีกากีที่ถือกำเนิดขึ้นจากการก่อรูปมายาวนานไม่เพียงแต่มีเป้าหมายทางทหารหรือความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเข้าไปคลุกคลีพัฒนาพื้นที่แถบชนบท ทำให้กองทัพมีช่องทางในการทำธุรกิจสัญญาจ้างต่างๆ จนสามารถสะสมความมั่งคั่งได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ (Financial Times) ยกตัวอย่างหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทหารมีอำนาจในการควบคุมทรัพยากรมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ “กัมพูชา” โดยระบุว่า หน่วยคุ้มกันอารักขาอดีตนายกรัฐมนตรี “ฮุน เซน” กว่า 3,000 นายได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก “จีน” โดยเป็นพันธมิตรทางการทหารและการค้าเชิงพาณิชย์ที่มีความสนใจในการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในกัมพูชา

หรือแม้แต่ใน “ฟิลิปปินส์” ประเทศที่หลายคนมองว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมิภาคก็ถูกอธิบายใน “Khaiki Capitalism” ว่า ทุนสีกากีเป็นปัญหาต่อการบริหาร-ขับเคลื่อนประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนเช่นกัน แม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุมการทำธุรกิจอย่างรัดกุมแล้วก็ตาม แต่ “ทุนสีกากี” มีสถานะแบบ “การทุจริตโดยแอบแฝง” ไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน

รวมถึง “พม่า” ที่ในขณะนี้ก็ยังคงเกิดความรุนแรงระหว่างรัฐบาลทหารและประชาชน โดยไฟแนนเชียล ไทม์ ยกตัวอย่างกรณีการเอื้อผลประโยชน์ด้านธุรกิจของทุนสีกากีเมื่อครั้งการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยมี “Myanmar Economic Corporation” หรือ MEC และบริษัท “Viettel” ของเวียดนามเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งทั้งสองบริษัทมีจุดร่วมเดียวกัน คือ มีกระทรวงกลาโหมในประเทศนั่งบอร์ดบริหาร

นอกจากนี้ พอล แชมเบอร์ และนภิศา ไวฑูรเกียรติ บรรณาธิการหนังสือ “Khaki Capitalism” ยังเคยให้ความเห็นด้วยว่า ในบรรดาประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ทหารมีอำนาจในการควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือ ประเทศไทย โดยนับย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร กองทัพไทยมีส่วนในการยับยั้งการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มทุน-กลุ่มชนชั้นนำในประเทศ ทำให้กองทัพไทยสามารถเปลี่ยนอิทธิพลทางการเมืองสู่การสร้างอาณาจักรทางเศรษฐกิจได้อย่างสบายๆ กองทัพจึงแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองได้ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ

‘Khaki Capitalism’ ทุนสีกากี สารตั้งต้นหายนะการเมืองไทยในสายตา ‘พิธา’

  • จากกองทัพสู่การกลืนกิน “ครรลองชีวิต” ของผู้คน

แม้ประเทศจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่สามารถนำกองทัพออกจากการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จการทำงานของรัฐบาลพลเรือนก็ดูจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งกองทัพมีกำลังสะสมทรัพยากรและเงินทุนมากเท่าไรพวกเขาจะยิ่งใช้ทรัพยากรเหล่านั้นในการสร้าง “ฉนวน” ป้องกันอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนได้มากขึ้นเท่านั้น 

พอลและนภิศาประเมินว่า ปัจจุบันบรรดากองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังเพิ่มพูนมากขึ้น ทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเป็นผลพลอยได้จากการใช้กำลังบีบบังคับเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตัวในบางครั้ง ท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้จะกลายเป็น “วิถีชีวิต” ของผู้คนในภูมิภาค รวมถึงกองทัพเองได้ทำการขยายอำนาจด้วยโครงสร้างแบบ “รัฐคู่ขนาน” บางครั้งไม่จำเป็นต้องออกมาปราบปรามหรือทำรัฐประหารอย่างเอิกเกริก หากแต่ปรับสมดุลทางอำนาจอยู่หลังฉากเท่านั้น

ในตอนท้ายของ “Khaki Capitalism” ระบุว่า เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับการนำทหารออกจากการเมือง หรืออาจพูดอีกแง่หนึ่งได้ว่า หลายประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “ค่ายทหาร” แม้ว่าภายหลังทหารเหล่านี้อาจตัดสินใจลงจากอำนาจ แต่ “ทุนสีกากี” จะยังคงปรากฏชัดในคราบของธุรกิจ การเมืองท้องถิ่น รวมถึงในฐานะ “ผู้มีอำนาจ” แทน

 

อ้างอิง: CNNFinancial TimesMatichonSoutheast Asia Globe