'ก้าวไกล' ย้ำจุดยืนปฏิรูปกองทัพ เลิกเกณฑ์ทหารไม่กระทบความมั่นคง

'ก้าวไกล' ย้ำจุดยืนปฏิรูปกองทัพ เลิกเกณฑ์ทหารไม่กระทบความมั่นคง

‘ก้าวไกล’ ชวนคุยชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ ชี้ความจำเป็นแก้โครงสร้างสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ปฏิรูปธุรกิจ-ที่ดินให้โปร่งใสตรวจสอบได้ ย้ำเลิกเกณฑ์ทหารไม่กระทบการรักษาความมั่นคง ประเทศจะมีกำลังพลเพียงพอ-มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2566 พรรคก้าวไกล เผยแพร่ความเห็นของ ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายชยพล สท้อนดี ส.ส.กทม. และ ว่าที่ ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข ส.ส.กทม. ร่วมพูดคุยในกิจกรรม Sol Bar Talk หัวข้อ ‘ส.ส.ก้าวไกลชวนคุย ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ’ ที่จัดขึ้นวานนี้ (21 ก.ค.) เป็นการพูดถึงหนึ่งในสองชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ อันประกอบด้วย ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ และชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ มีทั้งหมด 14 ชุด พรรคก้าวไกลจะยื่นชุดกฎหมายอีก 12 ชุดต่อสภาฯ หลังจากนี้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สาระสำคัญของชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ คือการแก้ไข พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม โดยใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎร เพราะหากใช้กลไก ครม. การแก้ไขนี้จะต้องผ่านมติสภากลาโหมด้วย ซึ่งจากโครงสร้างและระเบียบในปัจจุบัน เชื่อได้ว่าสภากลาโหมจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขเพื่อลดอำนาจตัวเอง หรือยอมให้อำนาจของกองทัพมาอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนแน่ๆ โดยเฉพาะอำนาจที่สำคัญที่สุด คือ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง

โครงสร้างสภากลาโหม ประกอบด้วย คณะกรรมการหลักๆ 7 คน มีเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาจากรัฐบาลพลเรือน ส่วนอีก 5 คน ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ และ ปลัดกระทรวงกลาโหม จะยกมืออย่างไรก็ 5 ต่อ 2 ทำให้รัฐบาลพลเรือนไม่มีอำนาจใดๆ ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าการทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือการสร้างอำนาจต่อรองของกองทัพต่อรัฐบาลพลเรือนจะไม่เกิดขึ้นอีก

สิ่งสำคัญที่สุดคือการเคลื่อนย้ายกำลังพล ที่ ผบ.เหล่าทัพ สามารถสั่งเคลื่อนกำลังพลได้โดยอิสระ ซึ่งขัดกับหลักรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ดังนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะแก้ไข คือการทำให้การเคลื่อนย้ายกำลังพล ต้องอยู่ภายใต้คณะเสนาธิการร่วม ที่จะเป็นโครงสร้างรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเป็นหลัก

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อการปฏิรูปกองทัพ เช่น การจัดการธุรกิจกองทัพให้โปร่งใส รวมถึงการจัดการที่ดินของกองทัพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากที่ดินของกรมธนารักษ์กว่า 12 ล้านไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพไปกว่าครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะของกองทัพบกเกือบ 5 ล้านไร่

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า หัวใจหลักของการปฏิรูปธุรกิจและที่ดินของกองทัพ ไม่ใช่การยึดคืน แต่คือการสร้างความโปร่งใส เช่น สนามกอล์ฟจำนวนมากของกองทัพ หากทำให้โปร่งใส จ่ายค่าเช่าให้กับท้องถิ่น รัฐบาล หรือกรมธนารักษ์อย่างเป็นธรรม รัฐบาลก็อาจจะยินดีให้มีการดำเนินการต่อเพราะมีความคุ้มค่ากว่า

\'ก้าวไกล\' ย้ำจุดยืนปฏิรูปกองทัพ เลิกเกณฑ์ทหารไม่กระทบความมั่นคง

นอกจากนี้ หนึ่งในการปฏิรูปธุรกิจกองทัพที่สำคัญคือการแก้ไข พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเดิมมีมาตราหนึ่งระบุว่าเงินนอกงบประมาณต้องส่งคืนคลัง เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอื่น หรือมีข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันมีแค่หน่วยงานเดียวที่ไม่มี พ.ร.บ. แล้วใช้ MOU ตกลงกับกระทรวงการคลัง นั่นคือกองทัพ ดังนั้น ขอเพียงทำให้เปิดเผยโปร่งใส จ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐอย่างเป็นธรรม จ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์อย่างสมเหตุสมผล

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปกองทัพอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าปักธงที่ถูกต้องแล้วค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องมันจะสำเร็จได้ หากเราแก้จุดสำคัญ คือ พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้ในที่สุด

“ทุกวันนี้กองทัพกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ นิติบุคคลหมู่บ้านยังปลด รปภ. ได้ เพราะอะไร เพราะ รปภ. คือคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธ กองทัพก็เช่นกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมกองทัพควรต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ก็เพราะกองทัพคืออาชีพเดียวในประเทศนี้ที่ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธได้” นายวิโรจน์ กล่าว

ว่าที่ ร.ท.ธนเดช กล่าวถึงการแก้ไขโครงสร้างสภากลาโหมเช่นกัน โดยระบุว่าปัจจุบันรัฐมนตรีกลาโหมไม่ได้มีอำนาจจริงๆ มีข้อกำหนดจากสภากลาโหมที่ทำให้ฝ่ายพลเรือนไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้เลย นอกจากนั้น การแก้ไขโครงสร้างสภากลาโหม จะทำให้การแต่งตั้งนายทหารระดับสูงของกองทัพมีความเป็นธรรมมากขึ้น มีเกณฑ์การแต่งตั้งที่เป็นธรรม ใช้ระบบความสามารถ

"ในฐานะอดีตข้าราชการทหารคนหนึ่ง นี่คือหนึ่งในเรื่องที่มีปัญหามาก และภายในกองทัพเองก็มีความต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในระดับพันโทลงมา ดังจะเห็นได้ว่าหน่วยเลือกตั้งในกองทัพจำนวนไม่น้อยเลือกให้ก้าวไกลชนะ แม้จะไม่สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยได้ แต่การแสดงออกผ่านการเลือกตั้งก็ชี้ให้เห็นแล้ว" ว่าที่ ร.ท.ธนเดช กล่าว

ว่าที่ ร.ท.ธนเดช กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพอีกเรื่องหนึ่ง คือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้ทันก่อนการเกณฑ์ทหารครั้งหน้า ซึ่งตนต้องย้ำอีกครั้ง ว่าจะไม่กระทบต่อโครงสร้างของกำลังพล ประเทศไทยจะยังมีกำลังพลเพียงพอในการป้องกันประเทศ โดยการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจนี้ ยังจะเปลี่ยนให้โครงสร้างทหารอาชีพสามารถเติบโตขึ้นจากพลทหารได้ มีเส้นทางอาชีพที่ก้าวหน้า ส่งเสริมคนที่ตั้งใจจะเป็นทหารให้เติบโตได้อย่างมั่นคง นี่เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดมาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประเทศมีกำลังพลเพียงพอและมีประสิทธิภาพ