ผู้ชนะกำหนดกติกา ‘การเมือง‘

ผู้ชนะกำหนดกติกา ‘การเมือง‘

ทว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การ “ความเสมอภาคถ้วนหน้า” ย่อมยากจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้ หากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกระทบกับกลุ่มคนชนชั้นนำที่คุ้นชินกับประโยชน์สุขที่ได้รับกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

นาทีนี้ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้สังคมไทยรับรู้โดยทั่วกันแล้วว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งอย่างพรรค “ก้าวไกล” เจ้าของ 14 ล้านคะแนน ที่ประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งฝากความหวังไว้ว่า จะสามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก็เป็นได้แค่อดีตแคนดิเดตที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการเมืองไทย “อะไรอะไร” ก็เกิดขึ้นได้ตราบใดที่ยังมีเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาล “คำสัญญาหรือสัตยาบัน” ใดๆล้วนเปลี่ยนแปลง ยกเลิกได้

การปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ เพื่อเอื้อให้ชนชั้นปานกลาง นักธุรกิจรายย่อยได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร โอกาสในการลงทุน เข้าถึงศูนย์กลางของอำนาจ ทั้งทางนโยบายบริหารประเทศ เศรษฐกิจ และการเมืองย่อมเป็นเรื่องที่ดี ทว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การ “ความเสมอภาคถ้วนหน้า” ย่อมยากจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้ หากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกระทบกับกลุ่มคนชนชั้นนำที่คุ้นชินกับประโยชน์สุขที่ได้รับกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การปรับเปลี่ยนแก้ไขกติกาเพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนอีกกลุ่มเข้าไปอยู่ในสมการศูนย์กลางของอำนาจ และผลประโยชน์ต่างๆ ล้วนแต่ต้องใช้เวลา ตราบใดที่กลุ่มคนที่อยู่แกนหลักของอำนาจ และเป็นผู้ที่ใช้กลไกของระบบต่างๆ ไม่ได้เห็นด้วยอย่างศิโรราบ

พรรคการเมืองที่เป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาลต้องมีการเจรจาพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะมาร่วมสนับสนุนร่วมบริหารประเทศ และผู้ที่จะเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงโหวตรับรองจากสมาชิกรัฐสภา 376 เสียง กติกาเหล่านี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยอยู่นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมของ “ประชาชน” ที่เป็นเจ้าของคะแนนเสียง นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาแล้วล้วนแต่อยากเป็นรัฐบาล เพราะมีโอกาสจะผลักดันนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ให้เป็นจริงได้มากขึ้น และมีโอกาสทำตามอุดมการณ์ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ประชาชนมีความเสมอภาค มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ทว่าการเป็น “รัฐบาล” เป็นผู้นำในการบริหารประเทศ จะต้องเป็นผู้ที่สามารถรวมคะแนนเสียงได้มากที่สุด และมีแนวร่วมสนับสนุนมากที่สุด จะเป็นผู้กำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลเดียวกัน ช่วยกันทำหน้าที่บริหารประเทศ รวมทั้งกำหนดตัวผู้ที่จะมาเป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ของประเทศไทยอีกด้วย ได้แต่หวังว่าวันที่ 4 ส.ค. 2566 รัฐสภาไทย จะสามารถทำหน้าที่โหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” มาบริหารพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เติบโตอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมไปพร้อมๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ให้มีผลบังคับใช้และจัดการเลือกตั้งใหม่ตามครรลอง