ระบบเศรษฐกิจอื่นที่ต่างไปจาก ทุนนิยม สุดโต่ง | วิทยากร เชียงกูล

ระบบเศรษฐกิจอื่นที่ต่างไปจาก ทุนนิยม สุดโต่ง | วิทยากร เชียงกูล

ประชาชนถูกครอบงำให้เชื่อว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีแนวทางเดียวคือ ทุนนิยมอุตสาหกรรม เพราะชนชั้นสูงคือพวกเจ้าที่ดินใหญ่ นายทุน นักธุรกิจชนชั้นกลาง รวมกัน

ในช่วง 20 ปีหลัง ประเทศที่เคยทดลองใช้ระบบสังคมนิยม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน ต่างล้มเหลว ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยมเป็นหลัก แต่ในโลกที่เป็นจริงนั้นยังคงมีบางประเทศ, บางมลรัฐ บางเมือง ที่พัฒนาเศรษฐกิจทางเลือกที่ไม่ใช่ทุนนิยมล้วนๆ

เช่น ประเทศแถบยุโรปเหนือที่ใช้ระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค รัฐสวัสดิการ

ประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง แต่ปัจจุบันกลายเป็นทุนนิยมโดยรัฐหรือกึ่งรัฐ เช่น รัสเซีย, จีน ฯลฯ พัฒนาทางเทคโนโลยีและพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมให้เติบโตได้สูงระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัญหาการเอาเปรียบคนและธรรมชาติ การพัฒนาที่ไม่สมดุล ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ความล้มเหลวและจุดอ่อนของประเทศที่เคยใช้ชื่อ “สังคมนิยม” เป็นเรื่องเฉพาะกรณีที่เกิดจากประวัติศาสตร์และสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ที่พยายามทดลองสร้างระบบเศรษฐกิจสังคม ไม่ได้แปลว่า สังคมนิยมพ่ายแพ้ทุนนิยมแล้ว

เพราะระบบทุนนิยมก็ยังไม่ได้ชนะอย่างเบ็ดเสร็จและคงสร้างปัญหาต่างๆ ให้โลกมากจนเกิดวิกฤตหลายด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม

ประเทศรายได้ปานกลาง/ต่ำบางประเทศ เลือกนโยบายพัฒนาและชุมชนสวัสดิการ เศรษฐกิจแบบพึ่งคน ทรัพยากร และตลาดภายในประเทศเป็นสัดส่วนสูง พึ่งการลงทุนและการค้ากับต่างชาติเท่าที่จำเป็น/เป็นประโยชน์

ระบบเศรษฐกิจอื่นที่ต่างไปจาก ทุนนิยม สุดโต่ง | วิทยากร เชียงกูล

มากกว่าจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเปิดตลาดเสรีอย่างสุดโต่งแบบไทย ที่ยังคงสร้างปัญหาคือ เพิ่มความมั่งคั่งทางวัตถุให้เฉพาะนายทุน คนชั้นกลาง ส่วนน้อย แต่กดขี่เอาเปรียบคนส่วนใหญ่และทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

เศรษฐกิจทางเลือกอื่น ที่ต่างไปจากนายทุนนิยม/ตลาดเสรี คือการพัฒนาเศรษฐกิจแนวอนุรักษ์และฟื้นฟูระบอบนิเวศให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน (ถึงรุ่นลูกหลาน) เศรษฐกิจแบบเน้นการช่วยวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการขนาดเล็กให้เข้มแข็งแข่งขันได้

รู้จักใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีอื่นๆ เพิ่มขึ้น แบบช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่

ประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจผสมแบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันและการการที่รัฐแทรกแซงในบางเรื่องและเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามาจัดรัฐสวัสดิการ เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เยอรมนี คานาดา นิวซีแลนด์ ฯลฯ สามารถกระจายการพัฒนาได้เป็นธรรม และเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมพัฒนาได้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีการพัฒนามนุษย์และคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับสูง เทียบกับที่ประเทศทุนนิยมสุดโต่งอย่างสหรัฐอเมริกา และทุนนิยมพรรคพวกอย่างยุโรปใต้ (กรีก สเปน อิตาลี ฯลฯ) ที่ต้องเผชิญมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาหนี้สินและการขาดความสมดุลทางการคลัง การเงิน และการกระจาย การพัฒนาอย่างรุนแรง

ระบบเศรษฐกิจอื่นที่ต่างไปจาก ทุนนิยม สุดโต่ง | วิทยากร เชียงกูล

มองในบางด้าน จีนพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมได้ดีกว่าหลายประเทศ จึงมีแง่มุมที่ควรพิจารณาตัวโมเดลการพัฒนาแบบจากจีนในเชิงวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน

ประเทศเสรีประชาธิปไตยทุนนิยม เช่น คานาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ สโลวีเนีย ไต้หวัน ฮ่องกง อิสราเอล ฯลฯ ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ สังคม ในบางด้าน บางระดับ ที่เราควรศึกษาจากพวกเขาได้ด้วยเช่นกัน

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมที่ไทยควรทำคือ การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ การปฏิรูประบบการเงินการธนาคาร การปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจ การจัดการพลังงาน และทรัพยากร การปฏิรูปเกษตร ธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง การปฏิรูปด้านแรงงาน การปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ

การปฏิรูปทางการเมืองควรเริ่มจาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เน้นการกระจายอำนาจ ทรัพยากร ความรู้ ไปสู่ประชาชนทั้งประเทศในแนวราบ เช่น ปฏิรูปให้จังหวัด อำเภอ ตำบล มีอำนาจจัดการตนเองเพิ่มขึ้น

ลดอำนาจกระทรวง เช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ ฯลฯ จากรัฐบาลส่วนกลางลง จัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นและสภาผู้แทนระดับต่างๆ ในแนวประชาธิปไตยทางตรง และประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงได้เพิ่มขึ้น

ระบบเศรษฐกิจอื่นที่ต่างไปจาก ทุนนิยม สุดโต่ง | วิทยากร เชียงกูล

ปฏิรูประบบกฎหมายและระบบการเมืองการปกครอง การเพิ่มสิทธิและโอกาสให้ประชาชนยื่นถอดถอนผู้แทนที่ขาดจรรยาบรรณ ได้ง่ายกว่าในระบบปัจจุบัน จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์, การประชามติ (ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน) ในเรื่องสำคัญได้บ่อยขึ้น กระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรงบประมาณสู่ท้องถิ่นและชุมชน

การฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนให้มีคุณภาพ และให้บริการอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน

เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถมีพลัง/อำนาจต่อรองที่จะตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ประชาชนที่มีรายได้พึ่งตนเองได้ และมีความรู้จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้น จะช่วยป้องกันและควบคุมการรวบอำนาจและการทุจริตโดยนักการเมือง นายทุน ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นได้

เป้าหมายการปฏิรูปประเทศโดยรวมคือ เพื่อกระจายทรัพยากร ทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานทำที่เหมาะสม อย่างเป็นธรรมทั่วถึง สร้างประชาธิปไตย (สิทธิเสมอภาค) ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ควบคู่กันไปกับการปฏิรูปทางการเมืองให้ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น.