จะปฏิรูปประเทศให้ได้จริงได้อย่างไร?

จะปฏิรูปประเทศให้ได้จริงได้อย่างไร?

การจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นได้ ข้อแรกต้องวิเคราะห์ให้ได้ก่อนว่า ประเทศมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร ควรจะแก้ไขที่ตรงไหนอย่างไร

การปฏิรูปที่แท้จริงต้องเข้าใจเรื่องเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองและต้องคิดเปลี่ยนแปลงทั้งระบบด้วย การมองปัญหาแบบเป็นเรื่องๆ ตามปรากฏการณ์ สถานการณ์ที่เราเห็นเฉพาะหน้าแยกเป็นส่วนๆ และหาทางแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป บางทีก็แก้ไขหรือลดปัญหาได้แค่บางส่วนหรือแค่ระยะสั้นเท่านั้น นั่นคือเป็นแค่การปะผุปฏิสังขรณ์ ไม่ใช่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบที่แก้ปัญหาได้อย่างจริงจังหรือยั่งยืน

ข้อแรกนี้ผมค้นคว้า/เขียนมาตลอด  พอจะเข้าใจภาพใหญ่ว่าเราควรปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสังคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ปรับตัวได้ ยืดหยุ่น และพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เช่น แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย เศรษฐศาสตร์แนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ ฯลฯ

ที่สำคัญกว่าคือข้อ 2 ว่า เรา (ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้าที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ) จะมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รับรู้และเห็นด้วยกับสิ่งที่เราพยายามเสนอ ที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว ก้าวหน้าที่สุดแล้วได้อย่างไร

หนังสือของนักประสาทวิทยา Tali Sharot เรื่อง The In Fluential Mind (ความคิดจิตใจที่มีอิทธิพล) ทำให้ผมได้แง่คิดที่น่าสนใจมากว่า สมองคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเลือกเชื่อและตีความตามสิ่งที่เขาเคยเชื่อมาก่อนและเชื่ออยู่ มากกว่าที่จะรับฟัง เข้าใจ เห็นด้วยกับข้อมูลทัศนะใหม่ๆ ที่ขัดแย้ง/แตกต่างไปจากความเชื่อของพวกเขา ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผล มีความก้าวหน้า ที่ยึดประโยชน์คนส่วนใหญ่มากสักเพียงไรก็ตาม

ยิ่งถ้าเป็นการเสนอเรื่องที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของคนบางกลุ่ม บางคน อย่างตรงกันข้ามแบบขาวดำสุดโต่ง ยิ่งทำให้คนที่เชื่อแบบขาวดำสุดโต่งอีกแบบหนึ่ง เช่น พวกจารีตนิยม ยิ่งรู้สึกปฏิเสธ เป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเสรีนิยมก้าวหน้ามากขึ้น และกอดความเชื่อเดิมของตนไว้แน่นขึ้น ทำให้สังคมยิ่งเกิดปัญหาความขัดแย้งแบบเป็น 2 กลุ่มแบบคิดสุดโต่งคนละขั้ว ที่อยากจะหาช่องทางเจรจากันได้

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อธิบายว่าแนวทางที่ดีกว่าการเสนอข้อความเห็นแบบหักล้างคนอื่น คือการเลี่ยงไปเสนอทางเลือกที่ดีกว่า ที่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น ทำให้ผู้คนรับฟังได้มากกว่า ที่เราจะเอาชนะด้วยการหักล้างความเชื่อของอีกฝ่ายหนึ่ง

ผู้เขียนยังได้เสนอแนวทางที่จะเสนอความคิดใหม่ให้ได้ผลในแนวจิตวิทยาสังคมไว้หลายข้อ เช่น ควรเสนอทัศนะในแง่ผลบวกที่จะได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะสั้น ควรจะทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ว่าถ้าคนเราอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ดี ไม่หวาดกลัว ไม่วิตกแล้ว พวกเขาจะรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ ได้ดีกว่าการอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ตรงกันข้าม ,ในกรณีที่ผู้ฟังรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจของเขาเองด้วย เขาจะรับฟังอะไรใหม่ๆ ได้ดีกว่า ฯลฯ

มีหนังสือแนวจิตวิทยาสังคมเล่มอื่นๆ ที่อธิบายว่าจะพูดจาชักชวนคนอื่นให้ได้ผลอย่างไร ปัญญาชนที่สนใจเรื่องการปฏิรูปประเทศควรจะศึกษาเรียนรู้ไว้ เพราะเท่าที่ผ่านมา การที่พวกหัวก้าวหน้าหรือคิดว่าตัวเองหัวก้าวหน้ามุ่งแต่จะเปลี่ยนความคิดคนอื่นแบบโจมตีอย่างก้าวร้าว โดยไม่เข้าใจเรื่องจิตวิทยาสังคม เรื่องวัฒนธรรม มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งแบบทะเลาะกันไป ไม่อาจตกลงหาทางออกให้สังคมได้มากกว่า

เรื่องที่ต้องช่วยกันคิดให้มากคือ เราจะเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนที่มีความคิด ทัศนะหัวเก่า จารีตนิยม เปลี่ยนเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยแนวก้าวหน้า รักความเป็นธรรม รักระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม อย่างมีวุฒิภาวะ มีความเป็นไปได้ ไม่หวือหวาสุดโต่งหรือเพ้อฝันมากไปได้อย่างไร

บทเรียนในประวัติศาสตร์ เช่น การที่คนอเมริกัน คนฝรั่งเศส เมื่อ 200 ปีที่แล้ว เปลี่ยนจากคนหัวเก่ามาเป็นนักประชาธิปไตย เข้าร่วมสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตย หรือคนรุสเซีย คนจีน เมื่อศตวรรษที่แล้วเปลี่ยนจากคนหัวเก่าเข้าร่วมการปฏิวัติสังคมนิยมจนเป็นผลสำเร็จ ในประเทศของพวกเขานั้นๆ เป็นเรื่องน่าศึกษาเชิงเปรียบเทียบ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงขึ้นกับปัจจัยด้านปัญหา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หลายปัจจัยด้วยกัน และเป็นสถานการณ์เฉพาะของแต่ละประเทศด้วย แต่ก็น่าศึกษา น่าวิเคราะห์ได้  นอกจากแนวคิดสังคมนิยมแล้ว แนวคิด community anarchism -การบริหารจัดการด้วยประชาชนเอง ไม่พึ่งรัฐบาลกลาง ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ นำมาประยุกต์ใช้

ถ้าเราคิดอยากเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคมไทย เราคงต้องศึกษา วิเคราะห์สังคมไทยกันอย่างใจกว้าง ลึกซึ้ง เพื่อทำความเข้าใจให้รอบด้าน มากกว่าที่จะไปยกย่องโมเดลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่ง การศึกษาในเชิงเปรียบเทียบเป็นบทเรียนที่จำเป็น/เป็นประโยชน์ ที่สำคัญที่สุดคือเราจะวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมไทยให้เข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปอย่างแท้จริงให้ดีขึ้นอย่างได้ผลได้อย่างไร

การรณรงค์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 เป็นบทเรียนที่คนรุ่นหลังควรศึกษาอย่างใจกว้าง ฝ่ายก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ในช่วงแรกๆ นั้น ยังขยายแนวคิดและการจัดตั้งองค์กรไปสู่ประชาชนได้ไม่มากเพียงพอ จึงถูกขัดขวางจากชนชั้นผู้ปกครอง จนกระทั่งพวกชนชั้นปกครองหัวเก่าที่มีอำนาจ ความมั่งคั่งมาก สามารถยึดอำนาจกลับคืนได้

ในยุคปัจจุบันชนชั้นผู้ปกครองยิ่งมีทั้งอำนาจการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และมีอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเชื่อตาม และฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าที่ประชาชนไทยจะคิดอย่างวิพากษ์ มีเหตุผลเป็น ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รู้จักจัดตั้งองค์กร และพัฒนาแนวคิดในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เองได้มากพอ

เยาวชนคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล ก็เป็นกลุ่มไม่ใหญ่มาก และมักมีความคิดแบบรุนแรง มองปัญหาแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง บางกลุ่มบางคนก็สัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ พวกเขายังไม่สามารถสร้างพันธมิตรหรือแนวร่วมกับประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างกว้างขวาง พอที่จะเป็นกำลังในการผลักดันการปฏิรูปแบบเข้าใจปัญหา มองการณ์ไกล มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ดีเท่าที่ควร

การอ้างว่าตนเองมีอุดมการณ์ มีเจตนาดีต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ยังไม่เพียงพอ เพราะคนอื่นๆ เขาไม่เห็นด้วย หรือเห็นตรงข้าม เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ยากมาก ที่คนรุ่นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง 2475 และคนเดือนตุลาคม 2516-2519 ก็ยังแก้โจทย์นี้ไม่ได้ดีพอ ด้วยหลายสาเหตุ/ปัจจัยหลายอย่างที่คนรุ่นหลังควรจะศึกษาให้กว้างขวาง รอบคอบ ใจเย็น รู้จักการอดทนรอคอย เพิ่มขึ้น

คนที่จะฉลาดพอที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคมที่ล้าหลังมากอย่างสังคมไทย ควรจะอ่านหนังสือให้กว้างขวางมากกว่ามองแต่เรื่องการเมือง คือควรจะอ่านทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมวิทยา จิตวิทยาสังคม ฯลฯ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ และอย่างพยายามเชื่อมโยงให้เข้าใจทั้งระบบสังคมอย่างเป็นระบบองค์รวม และพยายามวิเคราะห์สังคมไทยอย่างที่เป็นอยู่จริง ไม่ใช่มองตามทฤษฎีหรือโมเดลของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง.