‘ก้าวไกล’ ชงกฎหมายเลิก กอ.รมน. ตั้ง กมธ.สันติภาพปาตานี

‘ก้าวไกล’ ชงกฎหมายเลิก กอ.รมน. ตั้ง กมธ.สันติภาพปาตานี

ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่! ‘รอมฎอน’ มือทำงานชายแดนใต้ ‘ก้าวไกล’ เผยชงร่างกฎหมายยกเลิก กอ.รมน. ถึงมือประธานสภาฯแล้ว เตรียมตั้ง กมธ.สันติภาพปาตานี ขับเคลื่อนงาน

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2566 นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เริ่มนับหนึ่งวันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... ถึงมือประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
    
นายรอมฎอน ระบุอีกว่า ทำงานต่อไม่รอแล้ว สันติภาพและความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชนพลเรือนมือเปล่าด้วยนะครับ วันนี้ที่สภาฯ มีมูฟสำคัญเกี่ยวกับ #สันติภาพ ในชายแดนใต้/ปาตานี เรื่องแรกคือการริเริ่มตั้งต้นยุบ กอ.รมน. ด้วยการเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องเป็นการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าเรื่องการสร้างสันติภาพ ตอนนี้ลงนามโดย ส.ส.ก้าวไกล รวม 30 คนแล้ว (ต้องการอย่างต่ำ 20 มีคนที่ลงไม่ทันด้วย ต้องขออภัยด้วย)

ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่ #พรรคก้าวไกล สัญญาเอาไว้กับประชาชนครับ วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าการเผชิญหน้าและรับมือกับความขัดแย้งในชายแดนใต้มาตลอดหลายสิบปีนั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง นั่นคือการลดบทบาทของกองทัพลงและเพิ่มบทบาทของพลเรือนให้มากขึ้น โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน พื้นที่ของสภาฯ เช่นนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถดึงเสียงที่แตกต่างหลากหลายมาถกเถียงเรื่องสำคัญ ๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นกลไกที่จะส่งเสริมการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรรง

“ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาอำนาจรัฐ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องระดับชาติ การมอบหมายให้อยู่ภายใต้กรอบคิดและการดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคงชนิดพิเศษอย่างที่ผ่านมาไม่เพียงพอแล้วครับ เราต้องการทิศทางที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างมากกว่านั้นเพื่อไม่ให้ทิ้งระเบิดเวลาให้กับคนรุ่นถัดไป” นายรอมฎอน ระบุ

ที่จริงแล้ว การยุบ กอ.รมน. ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลแค่เรื่องสันติภาพในดินแดนใต้สุดเท่านั้น แม้ในช่วงการฟื้นตัวก่อกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2551 จะอิงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่นั่น ปัญหาของหน่วยงาน #รัฐซ้อนรัฐ นี้ปรากฎอยู่ทั่วทั้งประเทศ การแทรกแซงเข้าไปในกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน มองหาภัยคุกคามและข้าศึกอยู่ตลอดเวลาเช่นนั้นไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาวครับ

“เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกฎหมาย 5 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ แต่ละเรื่องนับเป็นหัวใจสำคัญของหลักการควบคุมกองทัพด้วยรัฐบาลพลเรือนแทบทั้งสิ้นครับ ชวนทุกท่านติดตามและถกเถียงถึงพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพในรัฐสภาไทยอย่างใกล้ชิดครับ ส่วนโฉมหน้าของ #รัฐบาลใหม่ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องลุ้นกัน แต่ฝั่งนิติบัญญัติไม่รอแล้วนะครับ” นายรอมฎอน ระบุ