'ปิยบุตร' เหน็บถ้าวันนี้ ปธ.สภา คือ 'ปดิพัทธ์' ผลคงไม่ลงเอยแบบนี้

'ปิยบุตร' เหน็บถ้าวันนี้ ปธ.สภา คือ 'ปดิพัทธ์' ผลคงไม่ลงเอยแบบนี้

'ปิยบุตร' โพสต์เหน็บ หากวันนี้ประธานสภาฯชื่อ 'ปดิพัทธ์' คงไม่ลงเอยแบบนี้ หลังที่ประชุมรัฐสภาข้างมากไม่เห็นชอบเสนอชื่อ 'พิธา' ชิงนายกฯอีกรอบ ชี้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีอำนาจต่อรองทันที เขี่ย 'ก้าวไกล' เป็นฝ่ายค้าน

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นผลการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา โดยที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คือการเสนอญัตติ ดังนั้นจึงไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นญัตติซ้ำได้ แต่สามารถเสนอได้ในสมัยประชุมหน้า

โดยนายปิยบุตร  ระบุว่า ผลการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาวันนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งประธานรัฐสภา ผลจากการประชุมรัฐสภาวันนี้ คงได้เห็นความสำคัญของตำแหน่งประธานรัฐสภาในช่วงเวลาที่มาตรา 272 ยังคงอยู่กันแล้ว ผลการลงมติวันนี้ ไม่เพียงกระทบต่อการเลือกพิธาในรอบที่ 2 แต่ยังกระทบไปถึงการลงมติครั้งหน้าในการเสนอชื่อแคนดิเดตจาก พท ด้วย 

ต่อไปนี้ ส.ว.และ พันธมิตรสามพรรค “ภจท/พปชร/ภจท” มีอำนาจต่อรองกับ พท.ว่า หากครั้งหน้า เสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรค พท.มาโดยที่ยังยึด “8 พรรค”

และมี กก.อยู่ พวกเขาก็จะไม่ลงคะแนนให้แคนดิเดตจาก พท. ทำให้ พท. และพันธมิตร “8 พรรค” อาจไม่กล้าเสี่ยงในการแบก กก ไว้อีกต่อไป เพราะ หากเสนอคนของ พท แล้วไม่ผ่าน ก็อาจเป็นญัตติซ้ำ หรือจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นจาก พท อีก หากพวกเขารวมหัวกันคว่ำอีก ก็จะกลายเป็นญัตติซ้ำไปเรื่อยๆ จนแคนดิเดตหมดสต๊อก 

หากเป็นเช่นนั้น "ประตู" ของ "ภจท/พปชร/รทสช." ก็เปิดกว้างขึ้น 

"หากนายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นประธานรัฐสภา (ปัจจุบันเป็นรองประธานสภาฯคนที่ 1) วันนี้ ผมมั่นใจว่า เขาจะกล้าใช้อำนาจประธานยืนยันว่า การเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ ญัตติ หรือต่อให้ลากไปเป็นญัตติซ้ำ แต่ก็มีข้อยกเว้นในข้อ 41 ตอนท้ายว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสนอซ้ำได้" นายปิยบุตร ระบุ