จุดยืนก้าวไกล ระส่ำ 8 พรรค สมรภูมิใหม่ สะเทือนเอกภาพ

จุดยืนก้าวไกล ระส่ำ 8 พรรค สมรภูมิใหม่ สะเทือนเอกภาพ

ความระส่ำระสายที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น กำลังสั่นคลอนเอกภาพระหว่างกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือนี่กำลังเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดผ่านก้าวไกลไปเรียบร้อยแล้ว

ดูเหมือนเป็นสัญญาณไม่สู้ดีในฝ่าย 8 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับภารกิจสำคัญ ผลักดัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อผ่านด่านโหวตในที่ประชุมรัฐสภานัดแรก เมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเสียง ส.ว. สนับสนุนเพียงแค่ 13 คนเท่านั้น

หลายคนที่ดีลเมกเกอร์ก้าวไกล เจรจาพูดคุย และรับปากจะยกมือโหวตให้ กลับไม่ปรากฏตัวเรียกว่าผิดแผนไปอย่างมาก

จบศึกแรกในการโหวตนายกฯ พิธาก็ยังไม่ผ่านด่าน 376 เสียงไปได้ แรงกดดันจึงตีกลับมาที่ก้าวไกล และบรรดา 7 พรรคร่วมที่เหลือ ก็น่าจะเห็นแนวโน้มแล้วว่าถ้าไปต่อแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะได้แบบเดิม

เลยเห็นการเดินเกมของก้าวไกล ในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ตัดอำนาจโหวตนายกฯ น่าสนใจว่าทำไมถึงคิดว่าวิธีนี้จะทำให้พิธาผ่านด่านโหวต ส.ว.ในครั้งที่สอง 19 ก.ค.นี้ไปได้

หรือเอาเข้าจริงแล้ว ก้าวไกลประเมินแล้วหรือไม่ว่า ถึงอย่างไรจุดยืนสำคัญกว่าผลลัพธ์ใดๆก็ตาม เพราะรู้ทั้งรู้ว่า 2 สมรภูมิ การโหวตนายกฯ และปิดสวิตช์ ส.ว.ที่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน3 หรือประมาณ 84 เสียงสนับสนุน ลองคิดดูแล้วกันว่าอันไหนยากง่ายกว่ากันอย่างไร

ถ้าเทียบกันระหว่างโหวตนายกฯ ที่ฝ่ายพิธาต้องการ ส.ว.สนับสนุน 64 เสียง ได้จริงแค่ 13 เสียงกับกรณีปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ ที่เท่ากับก้าวไกลกำลังผูกปมใหม่ให้แก้กันเหนื่อยซ้ำเข้าไป จะได้เสียงสนับสนุนจากไหน

การออกมาแถลงท่าทีของพิธา ที่พร้อมเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลถ้ายังไม่ผ่านด่านโหวตนายกฯ และปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่สำเร็จ การที่ก้าวไกลสร้างเงื่อนไขเพิ่ม ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นไปได้ค่อนข้างลำบากนั้น เพื่อหารันเวย์ หรือทางลงให้ตัวเอง แม้จะต้องเป็นฝ่ายค้านก็ตามใช่หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดสมรภูมิใหม่ของก้าวไกล สร้างแรงกระเพื่อมให้พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่าทีของภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ดูจะไม่ปลื้มกับวิธีการของก้าวไกล เพราะเสนอประเด็นใหม่นอกเหนือ MOU 

การจะสู้ 2 สมรภูมิจนไปต่อไม่ได้ ถึงจะมอบให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ที่แม้ฟังดูดี แต่จะยากมากขึ้น เพราะไม่มีกรอบเวลาชัดเจน เพื่อไทยเคยพูดแล้ว เสนอไปก็เพียงสัญลักษณ์ ไม่ได้รับชัยชนะแต่การรีบตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เราสามารถทำให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ต้องแก้ทั้งระบบ ถ้าเราเป็นรัฐบาลวาระแรก ประชุม ครม.จะลงมติให้ทำประชามติตั้ง ส.ส.ร.

“เห็นพิธานำเสนอต่อสังคมกว้างขวาง ออกมาอย่างนี้เหมือนมัดมือชกเรา” ภูมิธรรม ระบุ

อย่างไรก็ตาม นอกจากก้าวไกล จะพยายามแสดงออกถึงความไม่ยอมจำนน พร้อมชนทุกอย่างที่ขวางหน้า เรื่องนี้ก้าวไกลกังวลมากกว่าเรื่องอื่นๆ การที่จุดยืนหรือเจตจำนงทางการเมือง จะแกว่งหรือโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันต่อรองทางการเมือง คงยอมไม่ได้ ขนาดแรงต้านเรื่องแก้ม.112 หนักหนาแค่ไหน ก็ไม่ยอมถอย

พูดง่ายๆ ว่า เสียเก้าอี้ประธานสภา หรืออาจจะเสียสิทธิในการถูกเสนอชื่อพิธา แคนดิเดตนายกฯ ไปก็ไม่เป็นไร รอเล่นเกมยาวได้ ดีกว่าจะต้องมาเสียสัจจะ ถอยนโยบายที่หาเสียงไว้ จนอาจไม่เหลืออะไรติดไม้ติดมือ และอาจไปต่อวันหน้าไม่ได้อีกเลย ก้าวไกลเลยต้องทำให้เห็นแบบนี้

แต่ฟังสุ้มเสียงแกนนำใน 7 พรรคร่วม เริ่มแสดงออกถึงความไม่พอใจมากขึ้นๆ โดยเฉพาะ เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่วิจารณ์ก้าวไกลตรงไปตรงมา เรื่องยกมาตรฐานสูงไม่ยอมถอย จนปิดกั้นโอกาสตัวเอง แถมแบะท่าว่าพร้อมร่วมงานกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร

นาทีนี้ 7 พรรคร่วมที่เหลือ อาจจะเริ่มไม่แน่ใจว่าก้าวไกล ยังแน่วแน่ในการฟอร์มรัฐบาลเหมือนเดิม หรือเริ่มหาที่ทางที่เหมาะสมกับตัวเองเผื่อไว้แล้ว จนลืมนึกถึงมิตรร่วมรบใน MOU จะไปต่อกันอย่างไร

ความระส่ำระสายที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น กำลังสั่นคลอนเอกภาพระหว่างกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือนี่กำลังเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดผ่านก้าวไกลไปเรียบร้อยแล้ว