‘ชลน่าน’ย้ำไร้แผน 2 เลือกนายกฯ-ยัน8พรรคต้องหาข้อสรุปร่วมกัน

‘ชลน่าน’ย้ำไร้แผน 2 เลือกนายกฯ-ยัน8พรรคต้องหาข้อสรุปร่วมกัน

‘ชลน่าน’ย้ำไร้แผน 2 เลือกนายกฯ-ยัน8พรรคต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อหาแนวทางสู้โหวตนายกฯยก 2 หนักใจ ส.ว.ตัดสินใจเลือกผ่านนโยบายหาเสียง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงแผนที่ 2 สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยย้ำว่า จะต้องกลับไปดูที่แผน 1 เพราะ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะต้องกลับไปปรึกษาหารือกันว่า หลังจากนี้ จะใช้กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ ดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากรัฐสภา ครบ 376 เสียง โดยไม่สามารถทิ้งเวลาให้ล่าช้าได้ พร้อมยอมรับว่า ภายในพรรคเพื่อไทย ได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้วหลังปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวาน (13 ก.ค.) และพรรคเพื่อไทย ก็ยังรอนัดหมายจากพรรคก้าวไกล มาพูดคุยในเรื่องดังกล่าวอยู่ด้วย 

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย พูดคุยกับพรรคก้าวไกล อย่างไม่เป็นทางการเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) มีความคืบหน้าใดหรือไม่นั้น นายแพทย์ชลน่าน ระบุว่า การพูดคุยดังกล่าว ไม่ได้มีการพูดคุยกันลงลึกในรายละเอียด 

นพ.ชลน่าน ยังประเมินผลการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ว่า ในกลุ่มที่ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง เป็นเหตุผลที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ระบุเพียงจะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมือง ไม่ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ทิศทางทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง หรือนโยบายพรรคฯ 
 

“จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า หากรัฐสภามุ่งเน้นเรื่องดังกล่าว เมื่อพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา ผลการลงมติก็ไม่น่าจะแตกต่าง และโอกาสที่จะได้รับความเห็นชอบก็ยากด้วยเช่นกัน ซึ่งหากที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาโดยคุณสมบัติ ก็สามารถชี้วัดได้ตรงไปตรงมา แต่ถ้าใช้เหตุผลอื่นก็อยู่บนพื้นฐานความเชื่อความศรัทธา ก็ทำให้การพิจารณาลำบาก”

พร้อมยอมรับว่า ตนเองก็หนักใจ เพราะสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่คิดเช่นนี้ แต่ประชาชนที่ลงคะแนนให้ก็ตัดสินมาในทิศทางนี้ ทำให้ความไม่สอดคล้องระหว่างรัฐสภา กับประชาชน โดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย รวมถึง 8 พรรคฯ จะต้องพูดคุยในเรื่องดังกล่าว บนพื้นฐานความให้เกียรติพรรคก้าวไกล เคารพข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และสรุปเป็นแนวทางร่วมของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 

ส่วนพรรคเพื่อไทยจะมีคำแนะนำใดถึงพรรคก้าวไกลนั้น นายแพทย์ชลน่าน ยังยอมรับว่า แม้จะมีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ตนเองก็ไม่ได้รู้สึกท้อแท้ หรือสิ้นหวัง เพราะเมื่อได้รับอาณัติจากประชาชนมาแล้ว ก็มีพลังเพียงพอทีจะหาทางออกให้กับประเทศ บนความสมดุลที่ดีที่สุดได้ แต่ก็ยังยอมรับว่า การจะไปเปลี่ยนความเชื่อของสมาชิกวุฒิสภานั้น เป็นไปได้ยาก เพราะมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีพรรคการเมืองใดอยู่ในรัฐบาล จึงทำให้การตัดสินใจ เป็นไปด้วยความยากลำบาก และตนเองยังมั่นใจว่า ยังมีหนทางที่เป็นทางออกให้กับประเทศ ที่ไม่มีผู้ใดแพ้ทุกฝ่าย หรือชนะทุกฝ่าย โดยที่ประชาชนจะเป็นผู้ชนะ 
 

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่กลุ่มขั้วรัฐบาลเดิมจะเสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไป หากพรรคร่วมฯ ยังคงเสนอชื่อนายพิธา พรรคเพื่อไทยจะต้องปรับยุทธศาสตร์ยังไงหรือไม่ โดยยอมรับว่า ได้รับทราบกระแสข่าวดังกล่าว เพราะอีกฝั่งหนึ่งก็อ้างความชอบธรรมในการเสนอชื่อ เพราะฝ่ายเสียงข้างมาก ไม่สามารถนำจัดตั้งรัฐบาลได้ 

โดยถือเป็นเรื่องหลัก ที่ 8 พรรคจะต้องพูดคุยกัน เพื่อระมัดระวัง และให้การจัดรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตย ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลประสำความสำเร็จ เพราะหากการกระทำใดไปทำให้อีกฝั่งหนึ่งไปถึงจุดหมาย ก็ยืนยันว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะไม่ยินยอมให้เกิดขึ้น และจะแก้สมมการทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ให้ได้ 

ส่วนการแก้สมมการดังกล่าว ถือการเปลี่ยนตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ไม่ใช่นายพิธา เพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.หรือไม่นั้น นายแพทย์ชลน่าน ย้ำว่า อยู่ที่การพูดคุยระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมฯ ซึ่งหากยังคงยืนยันชื่อของนายพิธาแล้ว 8 พรรคร่วมฯ จะมีแนวทางใดมารองรับ พร้อมมองว่า ผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง ย่อมรู้ก่อนการลงมติ มิเช่นนั้นจะไม่ลงแข่งขัน 

“ยอมรับว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการอภิปรายประชุมรัฐสภามุ่งไปที่ประเด็นดังกล่าว ทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และ 8 พรรคฯ จะต้องไปแก้สมมการภายในรัฐสภานั้น โดยยืนยันว่า รัฐบาลที่ดีที่สุด ที่ควรจะเป็น โดยเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และประเทศชาติได้ประโยชน์ที่สุด จะต้องมีพรรคเพื่อไทย และก้าวไกลอยู่ด้วยกัน และยังหวังว่า รัฐสภาจะเปลี่ยนความคิด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของประเทศ” 

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ยอมลดเพดานการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกนากยรัฐมนตรีหรือไม่ โดยยอมรับว่า ตนเองเห็นใจพรรคก้าวไกล และชื่นชมในจุดยืนที่มั่นคง เพราะถือเป็นนโยบายสำหรับการหาเสียง และประชาชนยอมรับ จึงต้องยืนยันในจุดยืนดังกล่าว แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาล และรวบรวมเสียงเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ 376 เสียงเป็นรัฐบาลของประชาชนแล้ว ก็ควรจะต้องหาความเหมาะสมที่สุด โดยมั่นใจว่า พรรคก้าวไกล ก็มีเหตุและผล โดยไม่จำเป็นต้องลดอุดมการณ์ หรือแนวทางขณะนี้ ซึ่งตนไม่สามารถชี้นำได้  

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.) ตนเองรู้สึกรันทดมาก จนคิดจะเสนอให้การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมลับ เพราะ ส.ส. และ ส.ว. มีการอภิปรายถึงสถาบัน ทั้งด้านบวก และด้านลบ และทุกคนก็อยู่บนพื้นฐานที่สถาบัน จะต้องอยู่เหนือการเมือง แต่ในการประชุมเมื่อวาน จึงเป็นการดึงสถาบันมาอภิปราย ทั้ง 2 ฝ่าย แต่พรรคเพื่อไทย ก็ได้เตือน ส.ส.ห้ามอภิปราย หรือแตะถึงสถาบันไม่ว่าแง่มุมใด