Threads แพลตฟอร์มน้องใหม่ อีกหนึ่งสมรภูมิการเมือง

Threads แพลตฟอร์มน้องใหม่ อีกหนึ่งสมรภูมิการเมือง

มีคนแนะนำว่า ช่วงแรกของ Threads ยังไม่มีโฆษณา ยังไม่มีเนื้อหา toxic ควรรีบไปลองเล่นกันดู เรื่องยังไม่มี toxic นี่น่าจะจริง เพราะกวาดตาดูโซเชียลมีเดียไทยตอนนี้ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ระอุมากเรื่องการเมือง แฟนคลับทั้งสองฝ่ายมองเป็นอริมากกว่าการเป็นมิตรร่วมรบ 

ข่าวใหญ่วานนี้ (6 ก.ค.) เมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และวอตส์แอป เปิดตัวแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ ชื่อว่า Threads ใน 100 ประเทศทั่วโลก ผ่านไปเจ็ดชั่วโมงมีคนลงทะเบียนกว่า 100 ล้านคน คนดังๆ ก็แห่เข้ามาเปิดแอคเคานต์ แต่การจะใช้ Threads ผู้ใช้ต้องมีบัญชี Instagram อยู่ก่อนเพื่อลงชื่อเข้าใช้งาน เพราะระบบจะเชื่อมต่อ Threads ไปยังโปรไฟล์ Instagram ปัจจุบัน แต่ก็สามารถปรับแต่งข้อมูลบางอย่างได้  เช่น ประวัติ และ ลิงก์เว็บไซต์ ยกเว้นชื่อผู้ใช้งานที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนได้

หลายคนมองว่า Threads ตั้งใจมาเพื่อฆ่าทวิตเตอร์โดยเฉพาะ เพราะมีฟีเจอร์พื้นฐานแบบที่ทวิตเตอร์มี ไม่ว่าจะเป็นการทวีตบน Theads ที่เรียกว่าเธรด (Thread) การรีทวิต เรียกว่ารีโพสต์ (Repost) การตอบกลับเรียกว่า รีพลาย ชอบโพสต์ไหนก็ถูกใจได้ ไม่พอใจใครก็บล็อกผู้ใช้งานคนนั้น หรือบล็อกคำบางคำที่ไม่อยากเห็น เช่น การสปอยล์หนัง

บนหน้าฟีดของ Threads จะโชว์โพสต์จากบัญชีที่ผู้ใช้ไม่ได้ติดตามมากกว่าในทวิตเตอร์ ราวกับว่าอัลกอริทึมสุ่มมาให้ผู้ใช้กดติดตามคนอื่นๆ ต่อไป หรือตามเรื่องที่ผู้ใช้น่าจะสนใจ ส่วนกฎเหล็กก็คือ ห้ามมีคอนเทนต์ 18+ ซึ่งอันนี้ตรงข้ามกับทวิตเตอร์  

การมาของ Threads เกิดขึ้นในช่วงที่ทวิตเตอร์กำลังสับสนวุ่นวายภายใต้การบริหารของอีลอน มัสก์ ที่เปลี่ยนนโยบายแทบทุกวัน ซัคเคอร์เบิร์กเลยฉวยจังหวะผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เมตาหวังว่า สุดท้ายแล้ว Threads จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เหล่าคนดังพลาดไม่ได้ ถ้าเหล่าเซเลบที่มีผู้ติดตามมากๆ โพสต์ Threads เป็นประจำก็คงจะกลายเป็นโซเชียลมีเดียยอดฮิตได้ภายในเวลาไม่นาน แต่นั่นก็ต้องใช้เวลาประเมินกันสักระยะหนึ่ง และ Threads เองยังใช้ไม่ได้ในยุโรปเพราะยังติดข้อจำกัดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล 

สำหรับผู้ใช้เมื่อมีของใหม่ย่อมตื่นเต้นเป็นทางเลือกใหม่ ดีไม่ดีต้องไปลองกันก่อน มีคนแนะนำว่า ช่วงแรกของ Threads ยังไม่มีโฆษณา ยังไม่มีเนื้อหา toxic ควรรีบไปลองเล่นกันดู เรื่องยังไม่มี toxic นี่น่าจะจริงเพราะกวาดตาดูโซเชียลมีเดียไทยตอนนี้ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ระอุมากเรื่องการเมือง เมื่อก่อนแบ่งขั้วดุเดือด เดี๋ยวนี้แบ่งพรรคดุเดือด ขั้วเดียวกันแต่คนละพรรคกลายเป็นความเห็นไม่ตรงกันไปทุกเรื่อง แฟนคลับทั้งสองฝ่ายมองฝ่ายตรงข้ามเป็นอริมากกว่าการเป็นมิตรร่วมรบ 

กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกไม่รู้ว่าชาวเน็ตคอการเมืองทะเลาะกันไปถึงไหน และการโหวตดังกล่าวถ้ารอบเดียวจบก็โชคดีไป แต่ถ้ารอบแรกไม่ผ่านต้องมีรอบสองรอบสามรอยร้าวจะยิ่งหนัก ไม่ใช่ในหมู่นักการเมืองแต่เป็นในหมู่กองเชียร์ เป็นไปได้มากที่การเมืองไทยจะถูกขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชัง เผลอๆ การมีแพลตฟอร์มใหม่ที่ผู้ก่อตั้งอยากให้เป็นเวทีสนทนาสาธารณะที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์ อาจกลายเป็นสมรภูมิใหม่บนโลกออนไลน์ ให้กองเชียร์ได้สาดใส่กันมากขึ้นก็ได้!!!