งานวิจัยพระปกเกล้า ชี้ คนชายแดนใต้ ต้องการกระจายอำนาจ มากกว่า แบ่งแยกดินแดน

งานวิจัยพระปกเกล้า ชี้ คนชายแดนใต้ ต้องการกระจายอำนาจ มากกว่า แบ่งแยกดินแดน

"ชวลิต" เผย แก้ปัญหาชายแดนใต้ ต้องอดทน รอบคอบ ระบุ งานวิจัยพระปกเกล้า ชี้ ปชช. ต้องการการปกครองอิสระจากรัฐไทย น้อยที่สุด สวนทาง กระจายอำนาจ คนต้องการมากที่สุด ชี้ ข้อสรุป กมธ. ใช้ เศรษฐกิจ-การเมือง นำการทหาร ปรับใช้โมเดล 66/2523

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย คณะทำงานย่อยแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกรณีมีความพยายามจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในการจัดสัมมนาทางวิชาการที่ มอ.ปัตตานี หลังมีการเสนอทำประชามติเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน ให้ปัตตานีเป็นรัฐเอกราช ว่า ตนเห็นว่าการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกภาคส่วนควรอดทน ละเอียด รอบคอบต่อการแก้ไขปัญหาระวังอย่าเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวส่งผลให้ปัญหาบานปลายเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

ในฐานะที่เคยทำงานในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยที่ผ่านมา ตนมีข้อสังเกตต่อ

แนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้2 ประการ ดังนี้

1. สถาบันพระปกเกล้า โดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เคยทำงานวิจัยแนวทางแก้ไขปัญหา โดยใช้ชื่องานวิจัยนั้นว่า  PEACE SURVEY ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนถึง 5 ครั้ง โดยในครั้งที่ 5 สำรวจความเห็นระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม 2562

โดยถามความเห็นประชาชนถึง รูปแบบการปกครองที่ต้องการ พบว่า รูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย เป็นรูปแบบที่ประชาชนต้องการน้อยที่สุด

ส่วนรูปแบบการปกครองที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ รูปแบบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย (เอกสารงานวิจัย หน้าที่ 68)

ข้อสังเกตในประเด็นนี้ก็คือ ความคิดเห็นของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเป็นอิสระจากประเทศไทยนั้นมี แต่น้อย 

มีข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปัญหาความไม่สงบ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความยากจน และความอยุติธรรม เป็นปัญหาที่จมลึกอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ไปมากกว่านี้ ก็จะกระทบและสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศโดยภาพรวมมากขึ้นๆ

2. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการศึกษา เรื่อง แนวทางสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อการพัฒนาสร้างสันติสุขและประชาธิปไตย ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองร่วมเป็นคณะกรรมาธิการได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานพร้อมทั้งเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมแล้ว แต่การพิจารณาไม่ถึงระเบียบวาระ หมดสมัยประชุมไปก่อน

บทสรุปของคณะกรรมาธิการฯ ต่อการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจ การเมือง นำการทหาร และน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปรับใช้อย่างจริงจัง

ประการสำคัญ เวลาของความขัดแย้ง ความไม่สงบ ได้ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปีติดต่อกันสร้างความเสียหายต่อชีวิต จิตใจ ทรัพย์สิน ทั้งของประชาชนและทางราชการมากมาย ถึงเวลาที่จะให้อภัยต่อกัน โดยหลักศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม โดยนำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่66/2523 มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ (ขอเอกสารรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ฯ ได้จากสภา ฯ)

ในส่วนข้อเสนอจากพรรคไทยสร้างไทย นั้น พรรคได้นำงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าและรายงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏรมาปรับใช้ มีไทม์ไลน์  ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว

โดยระยะยาวซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เมื่อบริหารจัดการ 2 ขั้นตอนแรกเรียบร้อย จึงถึงขั้นตอนการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ประการสำคัญ ผู้บริหารพรรคโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรค และ นายโภคินพลกุล ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นอกจากเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งนำงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มาปรับใช้แล้ว 

ยังแนะนำให้เพิ่มมิติด้านการต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับการประสานกับมิตรประเทศที่จะร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งผมได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะทำงานย่อย ฯ ในการประชุมครั้งแรกที่พรรคก้าวไกล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว และจะติดตามในการประชุมครั้งที่สอง ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ณ พรรคประชาชาติต่อไป