"คมสัน" แนะ "กกต.​" ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มาตรา132 ชี้ขาด "พิธา"

"คมสัน" แนะ "กกต.​" ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มาตรา132 ชี้ขาด "พิธา"

"อ.นิติศาสตร์​ ม.รังสิต" แนะ "กกต." ใช้อำนาจชี้ขาด "พิธา" ตามมาตรา 132 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ชี้ ปมขาดคุณสมบัติแต่ลงสมัคร เท่ากับทำเลือกตั้งไม่สุจริต - เที่ยงธรรม

นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวต่อประเด็นการพิจารณาคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้น ITV ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง ว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ถกเถียงต่อการจะรับรองนายพิธา เป็นส.ส.ก่อนหรือไม่ ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนตัวมองว่า กกต.​สามารถใช้อำนาจพิจารณาเพื่อให้เป็นข้อยุติก่อนประกาศผลเลือกตั้งได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 132  

กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้สมัครใดกระทำเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งในกรณีการถือหุ้นของนายพิธา ที่เป็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ นั้นตนมองว่าเป็นการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เพราะรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่ยังลงเลือกตั้ง ขณะเดียวกันในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังรับรองให้ผู้สมัครของพรรคลงเลือกตั้งด้วย

 

 

“ที่มองว่า การเลือกกตั้งที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ดูเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น ผมมองว่าไม่ใช่ เพราะเมื่อคุณขาดคุณสมบัติและรู้ แต่กลับลงสมัครรับเลือกตั้ง เท่ากับว่าทำให้กระบวนการเลือกตั้งในขั้นตอนการส่งสมัครไม่ถูกต้อง ดังนั้น ผมมองว่า กกต. สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องส่งศาลก่อนประกาศรับรอง” นายคมสัน กล่าว

เมื่อถามว่าหาก กกต.ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 132 จะเป็นการย้ำว่าตนเองบกพร่องเพราะตรวจสอบคุณสมบัติไม่ดี และรับรองให้ลงเลือกตั้งหรือไม่ นายคมสัน มองว่า การตรวจสอบ และรับรองให้ลงสมัครเลือกตั้ง เป็นการตรวจสอบเบื้องต้น อีกทั้งต้องพิจารณาว่าผู้ยื่นใบสมัครนั้นได้แจ้งเรื่องไว้หรือไม่ อีกทั้งกรณีนี้เป็นประเด็นที่มีคนร้องเรียนภายหลัง ดังนั้นตนมองว่า ไม่ใช่ความบกพร่องของ กกต. และในขั้นตอนขณะนี้ กกต.ทำหน้าที่ตรวจสอบตามคำร้อง และยังมีอำนาจที่จะออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งได้.

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์