กฎหมายเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แง่มุมกฎหมายในต่างประเทศ

กฎหมายเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แง่มุมกฎหมายในต่างประเทศ

การเลือกตั้งที่ผ่านมาถือเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาปัญหาการเลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ารูปแบบในการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังมีสิ่งที่ต้องควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอยู่หลายประการ

 ในประเด็นดังกล่าวผู้เขียนจึงมีความสนใจเกี่ยวกับการนำรูปแบบการเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    สำหรับการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นวิธีการลงคะแนนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งได้รับการยอมรับจากบางประเทศทั่วโลก โดยเป็นการลือกตั้งลงคะแนนเสียงผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต

วิธีการลงคะแนนนี้เป็นวิธีการเพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงสําหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งเพิ่มความเร็วและความถูกต้องของกระบวนการเลือกตั้ง 

 ในสหรัฐอเมริกาการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้ในบางรัฐสําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติ Help America Vote Act of 2002 (HAVA)

ระบบนี้ถูกนำมาใช้ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ทุพพลภาพ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน รัฐบาลกลางให้เงินทุนแก่รัฐต่างๆ เพื่อช่วยในการซื้อและบํารุงรักษาระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ HAVA ยังกําหนดให้รัฐใช้การเข้ารหัส เพื่อปกป้องความสมบูรณ์ของการลงคะแนนเสียง ตลอดจนตรวจสอบและทดสอบระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนใช้งาน เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นไปโดยถูกต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้ในส่วนของประเทศออสเตรเลีย ได้นําระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรูปแบบบังคับก็ตาม แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งของออสเตรเลีย (AEC) ได้ออกแนวทางและข้อบังคับสําหรับการใช้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แง่มุมกฎหมายในต่างประเทศ

รวมถึงข้อกําหนดของการเข้ารหัสเพื่อปกป้องความสมบูรณ์ของการลงคะแนนเสียง ตลอดจนการตรวจสอบและทดสอบระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนใช้งาน

ในออสเตรเลียมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเลือกตั้งในบางรัฐ สิ่งนี้ให้ความมั่นใจว่าการลงคะแนนมีความปลอดภัยและถูกต้องเช่นเดียวกับรูปแบบของประเทศสหรัฐอเมริกา 

ในสหราชอาณาจักรอนุญาตให้มีการลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้บังคับ

พระราชบัญญัติการเป็นตัวแทนของประชาชนปี 2000 หรือ RPA ได้กําหนดกรอบกฎหมายสําหรับการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ในสหราชอาณาจักร RPA กําหนดให้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัยป้องกันการงัดแงะและตรวจสอบได้

นอกจากนี้ RPA ยังกําหนดให้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ต้องได้รับการทดสอบและรับรองก่อนใช้งาน หรือแม้กระทั่งในประเทศอินเดียก็มีการอนุญาตให้มีการลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อินเดียออกกฎหมายที่มีชื่อว่าพระราชบัญญัติตัวแทนของประชาชนปี 1951 ได้รับการแก้ไขในปี 2012 เพื่อให้สามารถใช้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศอินเดีย ซึ่งมีประชากรค่อนข้างมากเป็นไปด้วยความสะดวกและมีความรวดเร็วในการนับคะแนนมากยิ่งขึ้น

ในประเทศแคนาดาอนุญาตให้ลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติการเลือกตั้งของแคนาดา (CEA) ปี 2000 ได้รับการแก้ไขในปี 2014 เพื่อให้สามารถใช้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์สําหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

CEA กําหนดให้ระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ มีความปลอดภัยป้องกันการงัดแงะและตรวจสอบได้ 

จะเห็นได้ว่า ประเทศชั้นนำของโลกนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งในรูปแบบที่เป็นรูปแบบบังคับและเป็นทางเลือกในหลายประเทศ และเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น

โดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและประสิทธิภาพในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทุกประเทศมีการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนนำมาใช้และการบำรุงรักษา หลังจากมีการใช้อุปกรณ์ในการเลือกตั้งโดยหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้คือคณะกรรมการการเลือกตั้งของแต่ละประเทศ 

กฎหมายเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แง่มุมกฎหมายในต่างประเทศ

ดังนั้น แนวทางที่จะเป็นไปได้ที่จะทำให้รูปแบบการจัดการเลือกตั้งของประเทศไทย รวมถึงรูปแบบในการออกเสียงลงคะแนนอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องหากนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จะช่วยให้รูปแบบในการเลือกตั้งของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถที่จะศึกษาระบบการทำงานของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทั้งในส่วนของการทำงาน และจะทำให้รูปแบบการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ มีความทันสมัย นำไปสู่ความเชื่อมั่นของประชาชนในการจัดการเลือกตั้งรูปแบบต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในส่วนของผู้เขียนเอง มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการบัญญัติกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความชัดเจน ทั้งในส่วนของรูปแบบของการจัดการเลือกตั้ง การจัดสรรงบประมาณ การควบคุมตรวจสอบและการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการทำนุบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความชัดเจน

จะช่วยให้ทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง หรือมีการลงประชามติในรูปแบบอื่นๆ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากประชาชน ลดข้อครหาที่จะเกิดขึ้นกับคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งลงได้ และผลสุดท้ายประโยชน์ทั้งหมดจะตกได้แก่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง.