เทียบคดี 'วีลัค-ไอทีวี' ปมหุ้นสื่อเหมือนหรือต่าง

เทียบคดี 'วีลัค-ไอทีวี' ปมหุ้นสื่อเหมือนหรือต่าง

"...ข้อเท็จจริงของ ‘พิธา’ คือมีการถือหุ้นไอทีวีระหว่างสมัครรับเลือกตั้ง และภายหลังเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ก่อนจะโอนหุ้นเมื่อปลายเดือน พ.ค. ประเด็นของ ‘พิธา’ ณ เวลานี้จึงเหลือแค่การต่อสู้ว่า ‘ไอทีวี’ ยังเปิดดำเนินกิจการในฐานะ ‘สื่อสารมวลชน’ อยู่หรือไม่..."

เป็นหนึ่งใน ‘เผือกร้อน’ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำเป็นต้องรีบไต่สวน และมีมติออกมาโดยเร็ว นอกเหนือจากกรณีการรับรองสถานะ ส.ส.อย่างเป็นทางการ ภายในเดือน ก.ค.2566 นี้ รวมถึงกรณีการไต่สวนว่าที่ ส.ส. ที่อาจโดน ‘ใบเหลือง-ใบแดง’ นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 30-40 คน

คือประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการมีหุ้น 42,000 หุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถูกสารพัดนักร้องเรียนยื่นเรื่อง หอบหลักฐานเพิ่มเติม และเข้าให้ถ้อยคำแก่ กกต.แทบจะรายวัน

ประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของนักการเมือง-ผู้สมัคร ส.ส.มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่ กกต.เคยดำเนินการตรวจสอบมาแล้วตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) มีผู้สมัคร ส.ส.หลายคนติดบ่วงนี้ และถูก กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นเก้าอี้ ส.ส.มาแล้วหลายราย

หนึ่งในนั้นมีชื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เทียบเคียงกรณีหุ้นสื่อ ‘พิธา’ กับ ‘ธนาธร’ มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เพราะในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการตั้งประเด็นกล่าวหาว่า‘พิธา’ว่า รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561

ข้อเท็จจริงคดีหุ้นสื่อ ‘ธนาธร’ ถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวน 675,000 หุ้น และมีการโอนหุ้นออกไป อ้างอิงเอกสารที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (บอจ.5) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562

โดยการโอนหุ้นดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งที่กำหนดวันที่ 24 มี.ค. 2562 และเกิดขึ้นภายหลังการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. 2562

‘ธนาธร’ต่อสู้คดีนี้มีใจความสำคัญว่า เดินทางกลับมาโอนหุ้นดังกล่าวให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา เมื่อตอนเย็นวันที่ 8 ม.ค.2562 โดยมีนางสมพร ผู้ช่วยนางสมพร 2 คน นายธนาธร นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภริยา และนายณัฐนนท์ อภินันท์ ทนายความโนตารี ที่ได้รับมอบหมายจากนายพุฒิพงศ์ พงษ์อเนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย พรรคอนาคตใหม่ ทำการประชุม และลงนามโอนหุ้นกันในห้องหนังสือ ที่บ้านของนายธนาธร

การโอนหุ้นดังกล่าว เป็นการโอนภายในกันเอง จึงไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และยังได้แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในทันที โดยนางสมพร อ้างว่า บริหารบริษัทกว่า 40 แห่ง ดังนั้นในการยื่น บอจ.5 ต้องเคลียร์งบดุลให้เรียบร้อยก่อน ส่วนนายธนาธร อ้างว่า มีความต้องการเล่นการเมือง จึงต้องถอนหุ้นออกจากเครือไทยซัมมิททั้งหมด

อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง โดยใจความสำคัญเกี่ยวกับการนำส่งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือกรณีนายธนาธร กล่าวอ้างว่ามีการโอนหุ้นเมื่อ 8 ม.ค. 2562 แต่กลับไม่ปรากฏการส่ง บอจ.5 แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทันที ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญหากนายธนาธรจะเข้าสู่การเมือง 

การที่ไม่มีการส่ง บอจ.5 ต่อนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นการผิดปกติที่เคยปฏิบัติมา ทั้งที่การโอนหุ้นครั้งนี้มีความสำคัญต่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายธนาธรอย่างยิ่ง เพราะถ้ามิได้โอนไปก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมทำให้นายธนาธรมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

เทียบคดี \'วีลัค-ไอทีวี\' ปมหุ้นสื่อเหมือนหรือต่าง

หากเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคดีหุ้นสื่อไอทีวีของ ‘พิธา’ จะพบว่า ข้อมูล บอจ.5 ที่ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ นำมายื่นต่อ กกต.เพื่อขอให้ไต่สวน ปรากฏว่า ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 พบว่า พิธาเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 6,121 จำนวน 42,000 หุ้น เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168

นั่นเท่ากับปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 ‘พิธา’ ยังคงถือครองหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นอยู่ ขณะเดียวกันไม่ปรากฏข้อมูลการถือหุ้นดังกล่าวของพิธา ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ในการเป็น ส.ส.เมื่อปี 2562

ต่อมา ‘พิธา’อ้างว่า การถือครองหุ้นดังกล่าว ถือในฐานะ ‘ผู้จัดการมรดก’ ของ ‘พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์’ ผู้เป็นบิดา ตั้งแต่ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และได้ปรึกษา ป.ป.ช. พร้อมกับแจ้งข้อมูลไปแล้วภายหลังเป็น ส.ส.ปี 2562

คล้อยหลังไม่นาน ‘พิธา’ ออกมาอ้างอีกว่า ได้ ‘โอนหุ้น’ ไอทีวีดังกล่าวจำนวน 42,000 หุ้นให้แก่ ‘ทายาท’ ไปแล้ว เนื่องจากกังวลขบวนการคืนชีพไอทีวีให้กลายเป็น ‘บริษัทสื่อ’ อีก ทั้งที่อยู่ระหว่างต่อสู้ข้อพิพาทคดีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ถูกบอกเลิกสัมปทาน

แต่เรื่องนี้ ‘พิธา’ ให้สัมภาษณ์ว่า จำวันที่โอนหุ้นไม่ได้ แต่มีการโอนเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ดังนั้นข้อเท็จจริงของ ‘พิธา’ คือมีการถือครองหุ้นไอทีวีระหว่างสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ก่อนจะมีการโอนหุ้นเมื่อปลายเดือน พ.ค.

ประเด็นของ ‘พิธา’ ณ เวลานี้จึงเหลือแค่การต่อสู้ว่า ‘ไอทีวี’ ยังเปิดดำเนินกิจการในฐานะ ‘สื่อสารมวลชน’ อยู่หรือไม่

แม้ว่าตามรายงานงบการเงินประจำปี 2565-2566 จะแจ้งว่า มีวัตถุประสงค์ กิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ วัตถุประสงค์ สื่อโทรทัศน์ ขณะที่ข้อมูลการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) แจ้งว่า มีผู้ถือหุ้นสอบถามผู้บริหารว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ และผู้บริหารรายนี้ตอบว่า เป็นบริษัทสื่อก็ตาม

แต่ขึ้นอยู่กับการตีความทางข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานข้อเท็จจริงแวดล้อมอื่น ๆ อีกว่า ตกลงแล้ว ไอทีวี ยังคงมีสถานะเป็นสื่อจริงหรือไม่

ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายเทียบเคียงระหว่างปมร้อนหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร’ ถึง ‘พิธา’ 2 เสาหลัก ‘สีส้ม’ สะเทือนการจัดตั้งรัฐบาล จนถึงเก้าอี้นายกฯในตอนนี้