โค้งอันตราย"ก้าวไกล-พิธา" จับตา"สูตรลับ-เกมเสียบ"

โค้งอันตราย"ก้าวไกล-พิธา"    จับตา"สูตรลับ-เกมเสียบ"

“โค้งอันตราย" จับตา "หมากกกต." สอย-ยื้อ "รับรอง20ส.ส." หั่นแต้มส้ม สกัดชิง "ประธานสภา" สัญญาณสูตรพลิก - "หุ้นไอทีวี" ปมร้อนสั่นคลอน "พิธา" -เงื่อนไขดับฝันผงาดนายกฯ

ผ่านไป 2 สัปดาห์ หลังการเลือกตั้ง ถึงเวลานี้ บรรดา “ว่าที่ ส.ส.” ยังคงต้อง “ร้องเพลงรอ” ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรองผลอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ ส.ส.ได้อย่างเต็มตัว 

ไทม์ไลน์คร่าวๆ  ตามที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ออกมาเปิดเผย คาดว่า ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.จะสามารถประกาศรับรองผล ส.ส.ได้ร้อยละ 95 หรือประมาณ 475 คน จาก 500 คน เพื่อเปิดประชุมสภาฯ ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 127  แห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

สิ่งที่จะต้องจับตาคือ  “โค้งอันตราย” เริ่มที่ “โค้งแรก” คือ ศึกชิง“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 15 วัน โดยนับจากวันที่ กกต.รับรองผล ส.ส. ตามที่ระบุในมาตรา 121 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ หรือในช่วงเดือน ก.ค.

จนถึงเวลานี้ ทั้ง “พรรคก้าวไกล” ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมถึง “พรรคเพื่อไทย”พรรคอันดับ 2 ก็ยังไม่มีทีท่าจะ “หลบ” หรือ “หลีกทาง” ให้อีกฝ่ายแต่อย่างใด

โดยเฉพาะ “ค่ายส้ม” ที่รู้ดีถึงเล่ห์เหลี่ยม และแผนเตะสกัดจากบรรดามิตรเทียม-ศัตรูแท้ ที่อาจเกิดขึ้นในเบื้องหน้า จนอาจเสียตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร คือ “เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30” ไป  ฉะนั้น หากก้าวไกลไร้ซึ่งตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วยแล้ว นั่นย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยงเพลี่ยงพล้ำทั้งกระดาน

 

โค้งอันตราย"ก้าวไกล-พิธา"    จับตา"สูตรลับ-เกมเสียบ"

ฉะนั้น แม้ยามนี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะ “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” จะให้สัญญาเป็นมั่นเหมาะ ว่าจะจับมือกันอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาที่จะไม่กระทบกับการจับมือตั้งรัฐบาล 

แต่ปัญหาคือ หากถึงช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว กกต.รับรองผล ส.ส.ไม่ครบ100% โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.กว่า 20 คน ที่มีกระแสข่าวว่า อาจมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ นั่นย่อมกระทบไปถึงเสียงโหวตในสภาฯ ที่อาจถึงขั้น “สมการเปลี่ยน” ได้เลย 

 ยกตัวอย่าง มุมมองของ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบกรณีดังกล่าว “สมมุติว่า ประมาณ 25 คนที่เหลือ เป็นของพรรคก้าวไกลสัก 10 เสียง จำนวน ส.ส.ก็จะมีอยู่แค่ 141 เสียง เท่ากับพรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย โอกาสพลิกก็จะเกิดขึ้นได้ทันที”

เช่นนี้หากถึงวันนั้นทั้ง “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันว่า ที่สุดแล้วจะเสนอใคร นั่นย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเกมชิงเหลี่ยมในสภาฯ อย่างแน่นอน

โค้งอันตราย"ก้าวไกล-พิธา"    จับตา"สูตรลับ-เกมเสียบ"

ถัดมา โค้งที่สอง คือ โค้งหักศอก “โหวตนายกฯ” อย่างที่รู้กันว่า เกมโหวตนายกฯรอบนี้ ยังมีอุปสรรคขวากหนามสำคัญคือ “ส.ว.” 250 คน เพื่อเติมเสียงจาก8พรรคที่มีอยู่312 เสียงให้ครบ 376 เสียง สานฝัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ผงาดนายกฯ คนที่ 30 

จับสัญญาณ “สภาสูง” แม้ก่อนหน้านี้ จะมี ส.ว.ราวๆ 20 คน ออกมาประกาศจุดยืน พร้อมโหวตนายกฯ ที่มาจาก “เสียงข้างมาก” แต่นั่นไม่อาจฟันธงได้ว่า นายกฯจะชื่อ “พิธา” หากอยู่ดีๆ มีอุบัติเหตุ เกมพลิก พรรคเสียงข้างมากอาจเสนอชื่อนายกฯ คนอื่น ก็ย่อมเป็นไปได้

สัญญาณสภาสูงยามนี้ พยายามหยิบยกเงื่อนไขเรื่อง “คุณสมบัติ” ในกรณีการถือครองหุ้นสื่อ และอยู่ระหว่างรอการวินิจฉัย เพื่อเป็นเหตุผลในการ “ไม่โหวตให้พิธา” ซึ่งก็จะไปเข้าทางพรรคที่รอเสียบโดยปริยาย

“ก้าวไกล” เองก็ดูเหมือนจะอ่านทางตรงนี้ออก จำต้องเตรียมแผนซ้อนแผน โดยเฉพาะการเข้าชื่อ 1 ใน 10 หรือ ส.ส.ประมาณ 50 คนส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อประวิงเวลาการ “โหวตเลือกนายกฯ” ให้ยืดออกไป ซึ่งก็จะวนลูปกลับไปที่ตำแหน่ง “ประมุขนิติบัญญัติ” ที่มีอำนาจในการเรียกประชุม ปิดประชุม หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคก้าวไกลจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมีอำนาจนี้ไว้ในมือ 

 

โค้งอันตราย"ก้าวไกล-พิธา"    จับตา"สูตรลับ-เกมเสียบ"

โค้งที่สาม คือ “หุ้นไอทีวีขยี้พิธา” ยามนี้มีการยกคำพูด “พิธา” ที่ระบุถึงการ “ถ่ายโอนหุ้น” ให้กับทายาทไปตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค.เพื่อป้องกันการ “ฟื้นคืนชีพไอทีวี”  

ทว่า อีกมุมกลับมองว่า การโอนถ่ายหุ้นดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับการยอมรับว่า “ถือหุ้นจริง” และเป็นการยอมรับใช่หรือไม่ว่า ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือหากขาดคุณสมบัติจริง จะนับรวมไปถึงการลงนามรับรอง ส.ส.ทั้ง 151 คนด้วยหรือไม่ 

ยังไม่นับรวมกรณีข้อพิพาทระหว่าง  “ไอทีวี” กับ  “สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” ซึ่งที่สุด ไอทีวีอาจกลับมามีสถานะเป็นสื่ออีกครั้ง

ปมปัญหาเหล่านี้ คือ“โค้งอันตราย”ที่พรรคก้าวไกล และ“พิธา”กำลังเผชิญวิบากบนเส้นทางการเมือง ท่ามกลางกลลับ-เกมเสียบที่ตีขนาบรอบทิศ ณ เวลานี้!