เจาะแผงทีมกฎหมาย ‘ก้าวไกล’ จาก ‘ธนาธร’ ถึง ‘พิธา’ แก้เกมหุ้นสื่อ

เจาะแผงทีมกฎหมาย ‘ก้าวไกล’ จาก ‘ธนาธร’ ถึง ‘พิธา’ แก้เกมหุ้นสื่อ

"...เมื่อ ‘พิธา’ ขาดกุนซือกฎหมาย ‘สีส้ม’ อย่าง ‘ปิยบุตร’ ไป เท่ากับว่าภายในพรรคตอนนี้เหลือแค่ ‘ณัฐวุฒิ บัวประทุม’ รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายกฎหมาย เพียงคนเดียวที่เบอร์ใหญ่สุด โดยเจ้าตัวว่ากันว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่จะถูก ‘พรรคส้ม’ เสนอชื่อคั่วเก้าอี้ประธานสภาฯ..."

ชื่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กำลังกลายเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ทั้งกรณีการจัดตั้งรัฐบาล ที่ยังไม่คืบหน้าไปไหน เพราะยังดีลเสียง ส.ว.โหวตนายกฯไม่เพียงพอ ทั้งการยื้อแย่งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง ‘ก้าวไกล’ และ ‘เพื่อไทย’ ยังไม่สะเด็ดน้ำ

มิหนำซ้ำ ยังโดนสอบกรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ที่ถูกสารพัด ‘นักร้อง’ หอบหลักฐาน เข้าให้ถ้อยคำกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวหาว่า ‘พิธา’ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และอีกกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง

นอกจากนี้ อาจเข้าข่ายต้องพ้นเก้าอี้หัวหน้าพรรค เนื่องจากข้อบังคับของพรรคก้าวไกล เขียนสอดรับกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลให้การรับรองส่งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล เป็นอันต้อง ‘โมฆะ’ และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ครั้งใหญ่

แม้ว่า ‘พิธา’ ยืนยันว่ามีการ ‘โอนหุ้น’ ดังกล่าวไปแล้วช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา (เจ้าตัวระบุว่า จำวันที่โอนไม่ได้) เนื่องจากกังวลว่าอาจมีการเดินแต้มฟื้นคืนชีพไอทีวีให้กลายเป็น ‘หุ้นสื่อ’ ทั้งที่ไม่ได้ทำกิจการตั้งแต่ปี 2549 และอยู่ระหว่างต่อสู้คดีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) คดีถูกบอกเลิกสัมปทานอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ไม่อาจแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน เพราะในทางกฎหมายถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว 

เงื่อนปมในคดีหุ้นสื่อของ‘พิธา’ มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็น

1.ไอทีวี ปัจจุบัน (นับตั้งแต่ช่วงพิธา สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.คือวันที่ 7 เม.ย.เป็นต้นมา) ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่

2.การถือครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นของพิธา เป็นการถือในนามส่วนตัว หรือว่าถือในนามผู้จัดการมรดก

3.การถือครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นของพิธา เข้าข่ายมีลักษณะชี้นำสั่งการบริษัทได้หรือไม่

4.หากพิธา ถูก กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดจริงจากกรณีนี้ จะต้องพ้นตำแหน่งหัวหน้า และสมาชิกพรรค รวมถึงการรับรองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จะต้องโมฆะไปด้วยหรือไม่

ประเด็นเหล่านี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงาน กกต.ได้ชงเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณา โดย กกต.เตรียมตั้งเรื่องว่า พิธาเข้าข่ายรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลง แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ความคืบหน้าล่าสุด ที่ประชุม กกต.ตีกลับให้สำนักงาน กกต.ทำรายละเอียดคำร้องกล่าวหา และเรียบเรียงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายให้ชัดเจน ก่อนจะชงเข้าที่ประชุมอีกครั้ง

ที่น่าสนใจ ‘พิธา’ โดน กกต.ตั้งข้อหาเดียวกับที่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยโดนเมื่อปี 2562 กรณีการถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ แม้จะแจ้งเลิกกิจการแล้ว แต่ยังไม่เสร็จชำระบัญชี ก็ถือว่ายังมีสิทธิกลับไปเปิดบริษัทได้อีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ธนาธรมีความผิดฐานถือครองหุ้นสื่อ และสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

ในช่วงปี 2562 ธนาธร มีทีมกฎหมายรายล้อมอยู่รอบตัว แต่คนที่โดดเด่น และถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อร่างสร้างพรรคอนาคตใหม่มาด้วยกันคือ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ หอบพยานหลักฐาน เดินตีคู่กับธนาธร เข้าไปให้ถ้อยคำ และชี้แจงกับ กกต. รวมถึงชี้แจงในศาลรัฐธรรมนูญ มาโดยตลอด

ส่วนทีมกฎหมายที่มีบทบาทของพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น นำโดย ‘พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล’ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย พรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินการว่าความ และเข้าไปต่อสู้คดีให้ ‘พ่อของฟ้า’ ด้วย

สำหรับ ‘พุฒิพงศ์’ เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจาก ม.สยาม เขียนบทความทางวิชาการในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงเขียนหนังสือ ‘ธรรมชาติของการใช้อำนาจรัฐโดยกษัตริย์’ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ‘ไซน์พัลลิชชิ่งเฮ้าส์’ เมื่อปี 2556

‘พุฒิพงศ์’ ได้รับความไว้วางใจอย่างมากสมัยพรรคอนาคตใหม่ นอกเหนือจากว่าความคดีหุ้นสื่อให้ ‘ธนาธร’ แล้ว ตัวเขายังลงนามเป็นพยานในการทำสัญญาโอนเงินกู้ระหว่าง ‘ธนาธร’ ให้ ‘พรรคอนาคตใหม่’ รวม 2 ครั้ง วงเงิน 191 ล้านบาท โดยกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเป็นการกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย

หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ บทบาทของเขาก็เงียบหายไป กระทั่งมาโผล่เป็นกรรมการบริษัท ส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จัดจำหน่ายสินค้าของคณะก้าวหน้า ที่ก่อตั้งโดย ‘ธนาธร’ อีกครั้ง

ปัจจุบันบริษัท ส้มจี๊ดฯ มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ทำธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตคาร/ร้านอาหาร ตั้งอยู่ที่ 167 ชั้น 2 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (ที่เดียวกับ Sol Bar ร้านขายกาแฟ สุรา อาหาร เครื่องดื่ม ในที่ทำการพรรคก้าวไกล) ยังมีธนาธร และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่หลายคนเป็นกรรมการ นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2564 มีรายได้รวม 2,696,390 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,315,614 บาท

กลับมาที่คดีหุ้นสื่อไอทีวีของ ‘พิธา’ อีกครั้ง แม้ว่าจะมีพฤติการณ์ และลักษณะคดีคล้ายคลึงกับกรณีหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร’ ก็ตาม แต่คราวนี้ในบทบาทพรรคก้าวไกล ไม่มีชื่อ ‘ปิยบุตร’ เป็นกุนซือฝ่ายกฎหมายอีกแล้ว หนำซ้ำ ‘ปิยบุตร-พิธา’ เคยมีความกินแหนงแคลงใจกันหลายครั้ง ทั้งประเด็นหน้าฉากเรื่องค้านนโยบายบางอย่างของก้าวไกล ยังมีประเด็นหลังฉากเกี่ยวกับการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

แม้ว่า ‘ธนาธร’ จะเข้ามาเป็น ‘กาวใจ’ คนกลางคอยหย่าศึกสยบเกาเหลาของทั้งคู่แล้วก็ตาม แต่ ณ ปัจจุบัน ‘ปิยบุตร’ ยังคงออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย ‘ก้าวไกล’ อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด เป็นต้น

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ‘ปิยบุตร’ อาจยื่นมือให้ความช่วยเหลือปรึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง แต่คงไม่มาคลุกคลีตีโมงเหมือนตอนคดีหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร’

เมื่อ ‘พิธา’ ขาดกุนซือกฎหมาย ‘สีส้ม’ อย่าง ‘ปิยบุตร’ ไป เท่ากับว่าภายในพรรคตอนนี้เหลือแค่ ‘ณัฐวุฒิ บัวประทุม’ รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายกฎหมาย เพียงคนเดียวที่เบอร์ใหญ่สุด โดยเจ้าตัวว่ากันว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่จะถูก ‘พรรคส้ม’ เสนอชื่อคั่วเก้าอี้ประธานสภาฯ

ดีกรีของ ‘ณัฐวุฒิ บัวประทุม’ ปัจจุบันอายุ 46 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี 2 ใบ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศิลปศาสตรบัณฑิต คหกรรมศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตรบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโชทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างปี 2544-2562 เคยเป็นนักกฏหมาย และหัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ก่อนจะมาอยู่ใต้ชายคาพรรคอนาคตใหม่ และถูกส่งลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

บทบาทของ ‘ณัฐวุฒิ’ ในสภาฯ 4 ปีที่ผ่านมา เขาคือหนึ่งในบุคคลที่อภิปรายเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายกรณี และถูกแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนฯ รองประธาน กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนฯ รองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกลมากนัก เนื่องจากอยู่ระหว่างรอให้ กกต.เรียกชี้แจง ดังนั้นต้องจับตาดูกันอีกครั้งว่า จะมีใครถูกวางบทบาทให้มาเป็นคีย์แมนทีมกฎหมายสู้คดีหุ้นสื่อของ ‘พิธา’

ส่วนเรื่องราว ‘พิธา’ จะจบลงแบบเดียวกับ ‘ธนาธร’ หรือพ้นบ่วง จนขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30 ต้องรอลุ้นกันต่อไป