"ก้าวไกล" ย้ำ "สุราเสรี" จุดเปลี่ยน 7ยุทธศาสตร์-ทลายทุนผูกขาด-ศักดินา

"ก้าวไกล" ย้ำ "สุราเสรี" จุดเปลี่ยน 7ยุทธศาสตร์-ทลายทุนผูกขาด-ศักดินา

"เพจพรรคก้าวไกล" ย้ำ ปลดล็อคธุรกิจสุรา ส่งเสริมศักยภาพ 7 ด้านให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการ-อาหารสัตว์ พร้อมเชื่อจะเป็นชัยชนะของปชช. ต่อระบบทุน-ศักดินา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพจพรรค ก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจพรรคก้าวไกล หัวข้อ รัฐบาลก้าวไกล อนาคต สุราไทย ต้องไม่เหมือนเดิม โดยระบุถึงการปลดล็อกธุรกิจสุรา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทย และทลายทุนผูกขาด ที่กัดกินประเทศ  พร้อมกับย้ำว่า การปลดล็อกธุรกิจสุราไม่ใช่ชัยชนะของผู้ผลิตสุรารายย่อยที่มีต่อทุนใหญ่ แต่คือชัยชนะของประชาชนที่ต่อระบอบนายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่ใช้อำนาจผูกขาดกัดกินประเทศ สำหรับสุราก้าวหน้า เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ประเทศไทยยังมีศักยภาพอีกหลายอย่างที่รอให้ รัฐบาลก้าวไกล เข้าไปพัฒนา

ทั้งนี้เนื้อหาที่ระบุผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า 

"เป็นเวลามากกว่า 70 ปี ที่อำนาจรัฐให้อำนาจผูกขาดธุรกิจสุราให้อยู่ในมือเจ้าสัว แต่เหลืออีกเพียงก้าวเดียว โซ่ตรวนที่ปิดกั้นศักยภาพของผู้ผลิตสุราไทยกำลังจะถูกทำลายลง มูลค่าธุรกิจสุราทั้งหมด 500,000 ล้านบาท จากที่อยู่ในมือของรายใหญ่ 2-3 ราย กำลังจะกระจายไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ ให้สร้างสรรค์เอกลักษณ์สินค้าเกษตรของท้องถิ่นตัวเอง

"สินค้าเกษตร เก็บไว้ในโกดัง มีแต่ราคาจะลด เหล้า เก็บไว้ในไห มีแต่ราคาจะสูงขึ้น Think Forward Center เคยนำเสนอเอาไว้ว่าหากการปลดล็อกธุรกิจสุราเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยจะมีศักยภาพเกิดขึ้นถึง 7 อย่าง"

1. เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ได้มากมายหลายชนิด ทั้งข้าว อ้อย มัน ข้าวโพด มะพร้าว ตาล จาก ฯลฯ โดยรวมแล้วจะเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านี้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี

 

2. สร้างงานและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี

 

3. เสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น

 

4. เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อีกมาก ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผลผลิตการเกษตร การหมัก การเก็บรักษา ไปจนถึงการตลาด

 

 

5. ลดการนำเข้าสุราและเบียร์ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสุราและเบียร์ ทำให้เพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทยได้มากกว่า 3,500 ล้านบาท/ปี

 

6. เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตการเกษตรของชุมชน ด้วยการเก็บรักษาไว้ในรูปของสุราพื้นบ้าน จึงช่วยเพิ่มทางเลือกในการจัดการ และอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรและชุมชน

 

7. กากจากกระบวนการหมักสุราและเบียร์ของชุมชน ยังสามารถนำมาใช้ในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ของชุมชน และ/หรือการหมักก๊าซชีวภาพ ได้อีกทางหนึ่งด้วย