'รัฐบาลของประชาชน' คือ 'รัฐบาลแห่งชาติ'

'รัฐบาลของประชาชน' คือ 'รัฐบาลแห่งชาติ'

ประเด็นรัฐบาลแห่งชาติแม้เป็นไปไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อออกจากปาก ส.ว. ย่อมชวนให้คิดว่าเกมการเมืองนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ไม่เพียงแค่คนไทย นักลงทุนต่างชาติก็จับตามอง

การเมืองไทย ผ่าน “ดีลลับ-ดีลรัก” ระหว่างพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย มาได้เพียงวันเดียว บรรดาแฟนคลับยังมีเรื่องให้ต้องลุ้น เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าอาจมีการเลือกตั้งใหม่ หาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติ จากกรณีถือครองถือหุ้นสื่อไอทีวี ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จะกระทบกับการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา ว่าอาจถึงขนาดต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สนับสนุนความเห็นของนายวิษณุ เห็นต่างตรงที่การเลือกตั้งที่โมฆะ ควรเป็นเฉพาะเขตที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้ง ไม่ควรเป็นโมฆะทั้งหมด

นั่นคือโจทย์หนึ่งว่าด้วยคุณสมบัติของนายพิธา และในวันเดียวกันนั้นก็มีโจทย์ใหม่ออกมาโดยนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภาให้สัมภาษณ์เสนอแนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” ว่าตอบโจทย์การเมืองในตอนนี้ โดยให้แต่ละพรรคนำข้อดีมาร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยโมเดลของทุกพรรคมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของชาติ

เมื่อโยนหินถามทางกันมาแบบนี้ก็ต้องได้ก้อนหินกลับไป เสียงตอบโต้รัฐบาลแห่งชาติกึกก้องจากฝั่งนักการเมือง ประชาชนเองก็มีข้อสงสัย ในเมื่ออยากมีรัฐบาลแห่งชาติแล้วจะจัดการเลือกตั้งไปทำไม นักวิชาการหลายคนอธิบายผ่านโซเชียลมีเดีย การตั้งรัฐบาลแห่งชาติทำไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ 

อนาคตนายพิธากับรัฐบาลแห่งชาติจะออกมาในรูปไหนเป็นเรื่องของอนาคตอันใกล้ ถ้าขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน สิ่งที่ตามมาคือความไม่แน่นอน วานนี้ (1 มิ.ย.) เนื่องในโอกาสวันเกิดเนชั่นทีวี ผู้บริหารบิ๊กคอร์ปมาให้กำลังใจกันมากมาย ทุกคนพูดไปในทิศทางเดียวกัน เช่น..

"ตั้งรัฐบาลได้เร็ว ตำแหน่งรัฐมนตรี นโยบายชัดเจนว่าจะทำอะไร เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนปรารถนามากกว่าการดึงหรือลากให้ช้าลงแบบนี้"

"อยากมีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว"

"ขอความรวดเร็ว ภาคเอกชนไทยไม่เคยหยุดนิ่ง ทุกประเทศแข่งขันกันมาก ไม่อยากให้ช้า ไม่อยากให้มีอะไรสะดุด"

เสียงจากภาคเอกชนบอกชัดพวกเขาอยากได้รัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว ส่วนเสียงประชาชนนั้นชัดเจนมาตั้งแต่วันหย่อนบัตร

แม้กระบวนการตั้งรัฐบาลในตอนนี้ยังอยู่ในกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญที่นายวิษณุเคยบอกไว้ว่าไม่มีวันเร็วไปกว่านี้ เมื่อร่นเวลาให้เร็วขึ้นไม่ได้ก็ไม่ควรยืดเวลาให้ล่าช้าออกไป

ประเด็นรัฐบาลแห่งชาติแม้เป็นไปไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อออกจากปาก ส.ว. ย่อมชวนให้คิดว่าเกมการเมืองนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง

ไม่เพียงแค่คนไทย นักลงทุนต่างชาติก็จับตามอง หากพิจารณาจากหน้าสื่อต่างประเทศ พวกเขาคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ผลเลือกตั้งออกว่าแม้ก้าวไกลชนะเลือกตั้งแต่การตั้งรัฐบาลไม่ง่าย นั่นสะท้อนว่าการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องที่คาดการณ์ได้

แล้วอย่างนี้ นักลงทุนต่างชาติจะเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร ถึงวันนี้คนที่พร่ำบอกว่าทำเพื่อประเทศชาติไม่ต้องลากเกมยาว ท่องคำเดียว "รัฐบาลของประชาชนคือรัฐบาลแห่งชาติ" แค่นี้พอ แล้วระบบจะเดินหน้าไปได้เอง