‘ประพันธ์’ชี้หากศาลรธน.สั่ง‘พิธา’หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ว.โหวตนายกฯง่าย

‘ประพันธ์’ชี้หากศาลรธน.สั่ง‘พิธา’หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ว.โหวตนายกฯง่าย

‘ประพันธ์’ชี้หากศาลรธน.สั่ง‘พิธา’หยุดปฏิบัติหน้าที่ทำให้ ส.ว. โหวตนายกฯง่ายขึ้น ชี้เลือกนายกฯไม่เหมือนเลือก ส.ส. ลั่นปธ.สภา ต้องมีคุณวุฒิ วัยวุฒิและประสบการณ์พร้อม

นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงภาพรวมของการโหวตนายกฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีของส.ว. ว่า ส.ว.รอดูความคืบหน้าการรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล โดยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล น่าจะมีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติในการถือหุ้น ว่าอาจจะไม่ผ่านมาถึงการโหวต เพราะทราบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เตรียมเสนอศาลรัฐธรรมนูญแล้ว 

“คาดว่าไม่เกิน 30 วันนี้จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาหากมีกรณีเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากเกิดเรื่องนี้ขึ้นการโหวตก็จะทำให้คนที่จะโหวตตัดสินใจง่ายขึ้นในการที่ไม่อาจโหวตให้กับคนที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับสถาบันฯ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศที่จะสุ่มเสี่ยงให้ประเทศเราตกไปเป็นอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา และนำมาซึ่งความไม่สงบในประเทศ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ส.ว.ส่วนใหญ่กำลังเฝ้าติดตามอยู่”
 

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวต้องดูแนวคิดแนวนโยบายอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลก่อน ว่าหากได้เป็นนายกฯแล้วยืนยันที่จะ เดินในแนวทางเดิมๆหรือไม่เพราะเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะเรื่องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 หรือปฏิรูประบอบสถาบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวมากที่สุด และมีนโยบายที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมและนำมาซึ่งความไม่สงบสุขในประเทศ นี่เป็นประเด็นที่ตนต้องให้ความสำคัญ 

"การเลือกส.ส.ไม่เหมือนกับการเลือกผู้นำประเทศเพราะฉะนั้น เขาให้เรามาพิจารณาให้ความเห็นชอบคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศจึงต้องพิจารณาเหตุปัจจัยที่ไม่เหมือนกันซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งผู้ที่เป็นแคนดิเดต ก็จะต้องแสดงจุดยืนวิสัยทัศน์ และสมาชิกจะได้พิจารณาโหวต" ประพันธ์ กล่าว
 

นายประพันธ์ กล่าวถึง กรณีข้อเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ของนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภาว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ที่มีข้อกังวลในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเดินอยู่นี้ อาจจะนำมาซึ่งความไม่สามัคคีของคนในชาติ ความขัดแย้งที่นำมาสู่ความรุนแรงหรือเกิดเป็นปัญหาขึ้น ซึ่งก็ได้เป็นเสนอทางออก เป็นทางเลือกทางหนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยมีการเสนอ แบบนี้มาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เคยเกิดขึ้น 

“แต่ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นก็น่าจะทำได้ เพียงอย่ารอให้ประเทศต้องล่มสลายหรือเกิดการขัดแย้งจนถึงเกิดการนองเลือดบนท้องถนนก่อนถึงค่อยมาคิด แต่ขณะนี้คงยังไม่ถึงเวลานั้นเพราะแต่ละพรรคก็รวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลถ้าหากทุกพรรครวมเสียงกันได้และตั้งรัฐบาลได้ก็คงไปไม่ถึงจุดนั้น”

นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาฯ ว่าต้องมีคุณวุฒิ วัยวุฒิและประสบการณ์ เพราะประธานสภาฯต้องทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย ต้องเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด เพราะฉะนั้นความอาวุโสความมีประสบการณ์และความมีวัยวุฒิ คุณวุฒิเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องได้บุคคลที่ต้องเป็นที่เคารพนับถือ เชื่อถือศรัทธา ของมวลสมาชิกด้วย ไม่ใช่คำนึงแต่เพียงว่าพรรคไหนเป็นเสียงข้างมากก็ต้องเอาพรรคนั้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ เพราะเมื่อเวลาทำงาน

“ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากการที่จะวางตัวให้คนเคารพเชื่อถือศรัทธาและให้การยอมรับ หรือการจะประสานกับกลุ่มพรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อทำงานร่วมกัน ถ้าปราศจากซึ่งความน่าเชื่อถือความน่าเคารพ ทั้งในสมาชิกด้วยกันและประชาชนจะเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคในการทำงานตนจึงคิดว่าถ้าพรรคการเมือง จะทำการเมืองไปข้างหน้าต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงแต่จะเอาคนของตัวเองโดยไม่คำนึงปัจจัยเหล่านี้”