ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า 'เพื่อไทย' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า 'เพื่อไทย' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

สรุปบทเรียน ‘เพื่อไทย’ พรรคอนาล็อก พ่ายพรรคดิจิทัล ส.ส.เสาไฟฟ้าสอบตกระนาว ลุยดิสรัปต์เพื่อกลับมา ปมปัญหาหลัก พรรคเก่า คนแก่ มี ส.ส.เสาไฟฟ้ากว่าครึ่งค่อนพรรค จับตารื้อครั้งใหญ่ นักรบห้องแอร์รุ่นเบบี้บูมเมอร์ สู้เจนใหม่ค่ายส้มได้ยาก

วันที่ 24 พ.ค.2566 อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งที่สอบได้และสอบตก ณ ที่ทำการพรรค เพื่อให้กำลังใจ สรุปบทเรียน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อให้พรรคเพื่อไทยกลับมายืนได้อย่างเข้มแข็ง

      ทักษิณ ชินวัตร ได้วิเคราะห์ความล้มเหลวของพรรคเพื่อไทยไว้แล้วในรายการแคร์ทอล์ค ย้อนยุคพรรคไทยรักไทย ที่ใช้วิธีการแบบอนาล็อก คือการเดินสายปราศรัย ในยุคที่ยังไม่เกิดสังคมออนไลน์ และอินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู ซึ่งวันนี้ พรรคเพื่อไทยก็ดิสรัปต์ ด้วยการรีแบรนด์พรรคให้ทันสมัย แต่มันดิสรัปต์ไม่พอ

      ส่วนพรรคก้าวไกล ดิสรัปต์แบบเอสเอ็มอี นำกลยุทธ์ User Generated Content (UGC) มาหาเสียง และ UGC ได้กลายกลยุทธ์สำคัญ ที่มีส่วนช่วยให้พรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้

     ไอซ์ รักชนก กลายเป็นตัวอย่างการใช้ UGC มาหาเสียงที่ทักษิณ อยากให้คนเพื่อไทย ได้เรียนรู้

     คนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย อย่าง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ภูมิธรรม เวชยชัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จาตุรนต์ ฉายแสง อดิศร เพียงเกษ และสุธรรม แสงประทุม คนรุ่นนี้อายุราว 65-70 ปี เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ยังคิดเก่า ทำเก่า สู้คนเจนเอ็กซ์ เจนวายอย่างพิธา และผองเพื่อนไม่ได้

ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า \'เพื่อไทย\' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

  • พรรคอนาล็อกไม่ตอบโจทย์เจนใหม่

        แม้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร จะพาเพื่อนรุ่นเดียวกันเข้ามาทำงานในพรรค เพื่อรีแบรนด์เพื่อไทยให้ตอบโจทย์คนยุคดิจิทัล แต่ก็ยังมีช่องว่างทางความคิดกับ ส.ส.รุ่นใหญ่ 8-9 สมัย

        ทักษิณ ได้แนะนำหนังสือ The Innovator's Dilemma (ทางแพร่ง ผู้ริเริ่ม) เขียนโดย เคลย์ตัน คริสเทนเซน ที่พยายามอธิบายว่า ทำไมบริษัทหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ถึงประสบกับปัญหานวัตกรรมที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive innovation)

        เนื้อหาของ Innovator’s Dilemma พูดถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่จัดตั้งขึ้น มักมองข้ามตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากมุ่งเน้นการรักษาลูกค้าปัจจุบัน และกระแสรายได้ ทำให้พลาดโอกาสเติบโต เมื่อสตาร์ทอัพรายใหม่เข้าสู่ตลาด ด้วยการหาทางออกที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น

       ก้าวไกล เป็นพรรคสตาร์ทอัพทางการเมือง ไม่มีทุนรอนมากมายเท่าพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคสีส้ม จึงใช้นวัตกรรม UGC ปลุกกลุ่มผู้สนับสนุนทำคอนเทนท์ ในรูปแบบคลิปวิดีโอ และการบอกต่อ ทำให้เกิดหัวคะแนนธรรมชาติ หรือหัวคะแนนออแกนิกอย่างกว้างขวาง

       “ผมว่าพรรคเพื่อไทยต้องดิสรัปต์อย่างมีนวัตกรรม” ทักษิณสรุป หากยังต้องการกลับมาชนะเลือกตั้ง และเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่

ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า \'เพื่อไทย\' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

  • ส.ส.เสาไฟฟ้า เหินห่างชาวบ้าน

  การสูญเสียที่นั่งจำนวนมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่เป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย จะสรุปว่าแพ้กระสุนบ้านใหญ่ พ่ายกระแสก้าวไกลอย่างเดียวคงไม่ได้ 

        ไปสอบถามเอฟซีชินวัตรหรือคนเสื้อแดงในเขตชนบท ก็จะรู้ว่า ชาวบ้านยังรักพรรคเพื่อไทย รักทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง แต่อยากสั่งสอนอดีต ส.ส.เพื่อไทย ที่ห่างเหินชาวบ้าน นายห้างดูไบ จึงตำหนิลูกพรรคเพื่อไทยที่ประมาทเกินไป “..กระแสพรรคดีมาก แรงมาก ก่อนที่อุ๊ง อิ๊งลาคลอด เห็นกระแสดีก็เหลิง คิดว่าอย่างไร พรรคก็ชนะ ทำงานไม่เข้มข้น...หลายคนที่สอบตก มีประวัติไม่ลงพื้นที่”

      ชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ อดีต ส.ส.อุบลฯ 8 สมัย แพ้ สจ.หญิงหน้าใหม่ หรือ พินิจ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง 12 สมัย พ่ายเด็กรุ่นลูกจากก้าวไกล นี่คือรูปธรรมที่สนับสนุนคำพูดคนแดนไกลว่า ลูกพรรคประมาทเกินไป

       หากพรรคเพื่อไทยจะดิสรัปต์อย่างมีนวัตกรรม คงอาจต้องโละอดีต ส.ส. หรืออดีตผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมาก รวมถึงว่าที่ ส.ส.ชุดใหม่ อาจจะต้องลงสนามเป็นครั้งสุดท้าย

ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า \'เพื่อไทย\' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

  • อวสานเสื้อแดง ‘ณัฐวุฒิ’ จุดไม่ติด

อีกบทเรียนสำคัญของเพื่อไทย ในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้ บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้เกมปราศรัยตกยุค สู้โซเชียลไม่ได้ และชัดเจนว่า ‘ณัฐวุฒิ’ จุดไม่ติดเหมือนปี 2554 เสื้อแดงไม่แรงฤทธิ์ กลายเป็นส้มทั้งแผ่นดิน

       ปีที่แล้ว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้แต่งตั้ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เป็น ผอ.ครอบ ครัวเพื่อไทย เพื่อบริหารเวทีครอบครัวเพื่อไทย เดินหน้าคู่ขนานไปกับพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้ง

       แกนนำพรรคเพื่อไทย คงอยากให้เหมือนปี 2554 ยุทธศาสตร์ 2 ขาคือ เพื่อไทย เดินคู่ขนาน นปช. จุดกระแสยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ยุทธศาสตร์ 2 ขาของเพื่อไทยนั้น ตกยุคตกสมัย คนเสื้อแดงได้สลายตัวไปแล้ว และจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนเป็นเสื้อส้ม จึงทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยจำนวนมาก แพ้เลือกตั้งในสมรภูมิภาคเหนือ และภาคอีสาน

ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า \'เพื่อไทย\' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

  • ปรากฎการณ์ตีอีสานแตก

      13 ปีที่แล้ว ภาคอีสานเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของคนเสื้อแดง ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งปีนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เปิดปราศรัยที่จังหวัดไหน ก็ปลุกเร้าพลังคนเสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้ผลเหมือนเก่า

      แม้พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.เขต ภาคอีสาน 8 คน แต่ก็เป็นชัยชนะในเขตสีแดงเข้ม รวมถึงได้คะแนนบัญชีรายชื่อทั้งภาค เหนือกว่าพรรคเพื่อไทย

      อุดรธานี เขต 1 ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต ส.ส. 4 สมัย เพื่อไทยแพ้คู่ปรับเก่า เคน-ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ก้าวไกล

ขอนแก่น เขต 1 วีรนันท์ ฮวดศรี ก้าวไกลชนะ ชัชวาล พรอมรธรรม ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ เพื่อไทย  เขต 2 อิทธิพล ชลธราศิริ ก้าวไกล ชนะลูกสาวเจ้าสัวขอนแก่น รัมภามาศ ทีฆธนานนท์ เพื่อไทย เขต 3 ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ก้าวไกลชนะ จตุพร เจริญเชื้อ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 5 สมัย เพื่อไทย มุกดาหาร เขต 2 ณกร ชารีพันธ์ ก้าวไกลชนะ บุญฐิณ ประทุมลี อดีต ส.ส. 2 สมัย เพื่อไทย ซึ่งพื้นที่นี้ได้ชื่อว่า เป็นเขตสีแดงเข้ม

ถอดบทเรียนเสาไฟฟ้า \'เพื่อไทย\' ล้างบางรุ่นเก๋า อวสานเสื้อแดง

  • ทักษิณสิ้นมนต์ประชานิยม

     ภาคเหนือก็เปลี่ยนไป พิธา พากระแสส้มรักพ่อ กวาดเก้าอี้ ส.ส.ไป 20 ที่นั่ง อดีต ส.ส.เพื่อไทย ที่เคยขี่กระแสคนเสื้อแดงเข้าสภาฯ หนนี้สอบตกกราวรูด

     เชียงใหม่ เขต 1 จักรพล ตั้งสุทธิธรรม อดีต ส.ส.เพื่อไทย แพ้ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ก้าวไกล เป็นไปตามความคาดหมาย

เขต 3 ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส. 3 สมัย เพื่อไทยพ่าย ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ก้าวไกล ซึ่งเขตนี้เป็นบ้านเกิดของทักษิณ ชินวัตร เขต 4 วิทยา ทรงคำ อดีต ส.ส. 5 สมัย เพื่อไทยแพ้ พุธิตา ชัยอนันต์ ก้าวไกล เขต 6 อรพรรณ จันตาเรือง ก้าวไกลชนะ ไกร ดาบธรรม เพื่อไทย

     ลำปาง เขต 1 กิตติกร โล่ห์สุนทร อดีต ส.ส.เพื่อไทย ลูกชายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร พ่าย ทิพา ปวีณาเสถียร ก้าวไกล เขต 3 จรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส. 4 สมัย เพื่อไทยแพ้ ชลธานี เชื้อน้อย ก้าวไกล เขต 4 พินิจ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.12 สมัย เพื่อไทย แพ้ รภัสสรณ์ นิยะโสสถ ก้าวไกล

      ลำพูน เขต 1 สงวน พงษ์มณี อดีต ส.ส. 5 สมัย เพื่อไทยพ่าย วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ก้าวไกล เชียงราย เขต 1 ชินวัฒน์ ชินอนุวัฒน์ ก้าวไกลชนะ ร.ต.อ.ธนรัช จงสุทธนามณี เพื่อไทย ทายาทบ้านใหญ่จงสุทธนามณี

      เขต 3 ฐากูร ยะแสง ก้าวไกลชนะ วิกรม เตชะธีราวัฒน์ เพื่อไทย ลูกชาย วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงราย เขต 6 จุฬาลักษณ์ ขันสูธรรม ก้าวไกล ชนะอิทธิเดช แก้วหลวง อดีต ส.ส. 4 สมัย เพื่อไทย

      สรุปภาคเหนือตอนบน ที่เคยมีคนเสื้อแดงเป็นฐานเสียงสำคัญ ถูกพลพรรคเครื่องจักรสีส้มตีแตกเกือบทุกหัวเมืองดังนั้นการถอดบทเรียน SWOT Analysis ของเพื่อไทย หลังเลือกตั้ง 2566 จึงเป็นงานใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ปรับโครงสร้างการบริหารที่ซ้ำซ้อนระหว่างทีมพรรค ทีมครอบครัวเพื่อไทย อาจรวมไปถึงทีมนักรบห้องแอร์ เพื่อกู้กระแส กลับมาทวงคืนแชมป์ในครั้งหน้า