ศึกรุ่นลายคราม! เทียบทรัพย์สิน-ธุรกิจ ‘ชลน่าน’ vs ‘ศิธา’ ใครอู้ฟู่กว่ากัน

ศึกรุ่นลายคราม! เทียบทรัพย์สิน-ธุรกิจ ‘ชลน่าน’ vs ‘ศิธา’ ใครอู้ฟู่กว่ากัน

ศึกนักการเมืองรุ่นลายคราม! เทียบให้เห็นกันชัด ๆ ที่มาที่ไป ทรัพย์สิน ธุรกิจ ‘หมอชลน่าน’ vs ‘น.ต.ศิธา’ ใครเป็นใคร คนไหนอู้ฟู่กว่ากัน

ผ่านมาแค่ 3 วันหลังจาก 8 พรรคการเมือง ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏข่าว “เกาเหลา” ระหว่างแกนนำหลายพรรคในนั้นขึ้นมาทันที

ทั้งประเด็นการยื้อแย่งเก้าอี้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” ต่างฝ่ายต่างแสดงจุดยืนต้องการจับจองตำแหน่งนี้ เพื่อคอนโทรลเกมในสภาฯ

แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่ และสาธารณชนจับจ้องมากที่สุด หนีไม่พ้นกรณี “วิวาทะ” ดุเดือดระหว่าง “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ “ผู้พันปุ่นน.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากควันหลงการแถลงข่าวลงนาม MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุม “ผู้พันปุ่น” มิได้ยืนอยู่บนเวทีขนาบข้าง หรือข้างหลัง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หัวหน้าพรรค ทสท. ดังเช่นที่แกนนำพรรคอื่นทำกัน แต่กลับลงมาอยู่ข้างล่างเวที นั่งอยู่ในวงของสื่อมวลชน พร้อมโยนคำถามขึ้นไปบนเวทีอย่างร้อนแรง

แต่คำถามจุดเชื้อไฟให้ปะทุขึ้นมาคือ กรณีขอร้องให้ “เพื่อไทย” ลงนาม Advance MOU โดยให้ “กอดคอ” กับพรรคร่วมอื่น ๆ ที่เหลือว่า หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะยอมเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน

ทำเอา “หมอชลน่าน” เดือดปุด ๆ พร้อมเฉ่งกลับไปว่า “ผู้พันปุ่น” อยู่ในวงประชุมของ 8 พรรคร่วม แถมเป็นคนเสนอให้มีการแก้ไขถ้อยความใน MOU จึงเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทของ 8 พรรคร่วม แทนที่จะอยู่บนเวที แต่กลับไปนั่งในวงนักข่าว โดยถือว่าการกระทำแบบนี้เป็นการ “เสียมารยาท” อย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้ออกมาขอโทษพรรคเพื่อไทยแล้ว ถือว่าจบ

ทว่า “ผู้พันปุ่น” ยังคงทวิตข้อความตอบโต้ขยายความเรื่องนี้ ทำเอา “หมอชลน่าน” ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกครั้ง พร้อมพูดทิ้งท้ายในวงนักข่าวด้วยความเดือดดาลว่า “ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว”

สุดท้ายวานนี้ (25 พ.ค.) “ผู้พันปุ่น” ทวิตข้อความขอโทษเรื่องดังกล่าว หลังจากนั้นทวิตเนื้อเพลง “อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ” ทิ้งท้าย พร้อมยืนยันว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลติดขัดที่ตัวเอง พร้อมลาออกจากพรรค ทสท.

สยบเรื่องราว “เกาเหลา” ระหว่างแกนนำ 2 พรรคลงไป

มุมการเมือง 

“หมอชลน่าน” (อายุ 61 ปี) และ “น.ต.ศิธา” (อายุ 58 ปี) ถือเป็น “นักการเมือง” รุ่นไล่เลี่ยกัน และประสบความสำเร็จมาพร้อม ๆ กัน โดยทั้งคู่เป็น ส.ส.พร้อมกันสังกัด “ไทยรักไทย” เมื่อปี 2544 “ผู้พันปุ่น” คืออดีตประธานรุ่นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 24 (ตท.24) ก่อนลาออกมาเป็น ส.ส.กทม. ต่อมาในปี 2545 ถูกแต่งตั้งเป็นโฆษกสำนักนายกฯ ส่วน “หมอชลน่าน” เป็น ส.ส.น่าน สมัยแรกเช่นกัน

“หมอชลน่าน” ในฐานะ ส.ส.ภาคเหนือ เคยอยู่ภายใต้สังกัด “วังบัวบาน” ของ “เจ๊ ด.” ขณะที่ “ผู้พันปุ่น” เคยเป็น ส.ส.กทม. อยู่ในคาถาของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ในฐานะ “เจ้าแม่ กทม.” (ขณะนั้น)

อย่างไรก็ดีในยุค “ไทยรักไทย” บทบาทของ “ผู้พันปุ่น” เติบโตกว่า “หมอชลน่าน” ที่เป็น ส.ส.ระดับท้องถิ่น เคยช่วยงานเป็น เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ระหว่างปี 2547-2548 ขณะที่ “น.ต.ศิธา” เติบโตเป็น “โฆษกรัฐบาล” และรองเลขาธิการนายกฯ รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กระทั่งถูกยุบพรรค “ผู้พันปุ่น” คือหนึ่งในบุคคลบ้านเลขที่ 111 โดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

ระหว่างนี้มีการก่อร่างสร้างพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย “หมอชลน่าน” เริ่มกลับมามีบทบาทสูงในสภาฯ โดยปี 2552 ได้รับการโหวตจากสื่อสายสภาฯเป็น “ดาวสภาฯ” เนื่องจากมุ่งเน้นการอภิปรายด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง มากกว่าฝีปาก ต่อมาในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย “หมอชลน่าน” ถูกแต่งตั้งเป็น รมช.สาธารณสุข ระหว่างปี 2555-2556 

หลังจากนั้นช่วง 8 ปีแห่งรัฐประหาร บทบาทของ “หมอชลน่าน” มีอยู่กลาย ๆ ผ่านการสัมภาษณ์ของสื่อ ขณะที่บทบาทของ “ศิธา” เงียบหายไป จนการเลือกตั้งปี 2562 “หมอชลน่าน” กลับมามีบทบาทสูงในสภาฯ ถูกยกย่องเป็นดาวเด่นอีกครั้ง และขึ้นสู่จุดสูงสุดของพรรคด้วยการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2564 หลัง “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” นักการเมืองอาวุโส อดีตแกนนำ “กลุ่ม 16” และสายตรง “เจ๊ ด.” แห่ง “วังบัวบาน” สละเก้าอี้

ส่วน “ผู้พันปุ่น” กลับมามีบทบาทอีกครั้งภายหลัง “คุณหญิงสุดารัตน์” ถูกหักเหลี่ยมเฉือนคมใน “เพื่อไทย” จนต้องไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ตัวเขาถูกดึงกลับมาโลดแล่นบนสนามการเมือง ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค และถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2565 โดยมีคะแนนอยู่ลำดับ 7 ได้ไปราว 73,720 เสียง คิดเป็น 2.75% ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ก่อนเบนเข็มสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

ผลการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า “เพื่อไทย” ได้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อรวม 141 ที่นั่ง ส่วน “ไทยสร้างไทย” ได้ ส.ส.รวม 6 คน “ชลน่าน” ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส.น่านติดต่อกัน 6 สมัย ส่วน “ผู้พันปุ่น” พ่ายแพ้ไป คงสถิติเป็น ส.ส.ติดต่อกัน 2 สมัยช่วงยุค “ไทยรักไทย” เบ่งบาน

มุมทรัพย์สิน-ธุรกิจ 

ชลน่าน ศรีแก้ว” แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 579,542,762 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 11,684,235 บาท มีบุตร 2 ราย ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1 ราย

ในจำนวนนี้เป็นของ นพ.ชลน่าน 10,278,836 บาท ได้แก่ เงินฝาก 43,836 บาท ที่ดิน 2 แปลง 1 ล้านบาท บ้าน 1 หลัง 3 ล้านบาท รถยนต์ 3 คัน 2.1 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 4,135,000 บาท มีหนี้สิน 2,953,893 บาท

ส่วน น.ส.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คู่สมรส (ไม่จดทะเบียน) มีทรัพย์สิน 569,199,428 บาท ได้แก่ เงินสด 3.5 แสนบาท เงินฝาก 25,865 บาท เงินให้กู้ยืม 1.2 ล้านบาท ที่ดิน 20 แปลง 542,602,563 บาท บ้าน 4 หลัง ห้องชุดสายลมคอนโดเทล 3 ห้อง 17.1 ล้านบาท รถยนต์ 4 คัน 2,950,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 4,971,000 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 8,730,342 บาท ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีเงินฝาก 64,497 บาท

น.ต.ศิธา ทิวารี” ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของ “ผู้พันปุ่น” ที่แจ้งไว้ครั้งล่าสุดคือเมื่อ 16 ปีก่อน กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ครบ 1 ปีเมื่อปี 2550 ปัจจุบัน ป.ป.ช.มิได้เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้แล้ว จึงไม่สามารถนำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบได้

อย่างไรก็ดีข้อมูลในมุมธุรกิจพบว่า “น.ต.ศิธา” เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง ยังดำเนินกิจการอยู่อย่างน้อย 1 แห่งคือ บริษัท เบล็ส แอสเสท กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดย น.ต.ศิธา นั่งแท่นประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระ

บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเมื่อปี 2553 ก่อนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) เมื่อปี 2564 ทุนปัจจุบัน 400 ล้านบาท แจ้งทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่พักอาศัยเพื่อขาย แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียมชั้นเตี้ย (Low rise) 

ปรากฏชื่อกรรมการ ดังนี้

  • น.ต. ศิธา ทิวารี ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ
  • นาย ชัยวัฒน์ โกวิทจินดาชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  • น.ส. นิภา อภิรัตนรุ่งเรือง กรรมการ
  • นาย ณัฐพงษ์ สุขเจริญไกรศรี กรรมการ
  • นาย วิกิต ขจรณรงค์วณิช กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  • นาย ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  • นาย ภูษิต วงศ์หล่อสายชล กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

ปรากฏชื่อ น.ส.นิภา อภิรัตนรุ่งเรือง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 298 ล้านหุ้น คิดเป็น 37.25% ที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในชื่อคนตระกูล “สุขเจริญไกรศรี” 

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อไตรมาส 1/2566 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2566) มีสินทรัพย์รวม 2,155.06 ล้านบาท หนี้สินรวม 993.94 ล้านบาท รายได้รวม 107.05 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4.95 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจอีกแห่งที่เลิกกิจการและเสร็จการชำระบัญชีไปแล้วคือ บริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด ที่ น.ต.ศิธา เคยเป็นกรรมการร่วมกับนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร และนายเฉลิม แผลงศร

ส่วน น.ส.อาทิกา ท่อแก้ว ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น คู่สมรส “ผู้พันปุ่น” ปรากฏชื่อเป็นกรรมการอย่างน้อย 2 บริษัท ได้แก่

  • บริษัท เศรษฐกิจสังคม มุทิตา จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 12 พ.ย. 2563 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ประกอบกิจการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ดิจิทัลและระบบบริการหรือแอพพลิเคชั่นพื้นฐานแบบครบวงจร ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน การจัดหา จัดให้มีการประกอบอาชีพงานชุมชนท้องถิ่นในผลิตภัณฑ์ ของชาวบ้านในชุมชน ยังมิได้แจ้งข้อมูลงบการเงิน
  • บริษัท เอ็น โฮเทล จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 7 มิ.ย. 2549 ทุนปัจจุบัน 385 ล้านบาท ทำธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร บาร์ มีรายได้ปี 2564 รวม 285,462 บาท ขาดทุนสุทธิ 35,209,190 บาท