นักกฎหมาย ชี้ ปิยบุตร ล็อคเก้าอี้ประธานสภา หวั่นปม "พิธา" ไปไม่ถึง นายกฯ

นักกฎหมาย ชี้ ปิยบุตร ล็อคเก้าอี้ประธานสภา หวั่นปม "พิธา" ไปไม่ถึง นายกฯ

นักกฎหมาย ชี้ ปิยบุตร ล็อคเก้าอี้ประธานสภา หวั่นปม "พิธา" ไปไม่ถึงนายกฯ เตือน เข้าข่ายครอบงำถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล

วันที่ 24 พฤษภาคม 2566  จากกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊ก ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคก้าวไกลไม่ควรเสียให้พรรคอื่นเด็ดขาด 

ล่าสุด นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ระบุว่า  ผู้ช่วยหาเสียงตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงฯ สิ้นสุดไปตั้งแต่วันเลือกตั้ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล สิ้นสุดสถานะความเป็นผู้ช่วยหาเสียงตั้งแต่ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ขณะนี้ ไม่มีสถานะเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลแล้ว 

นายปิยบุตรอยู่ในระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆได้รวมถึงพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนางสาวพรรณิการ์ วาณิช อดีต กก.บห.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไปนั่งร่วมโต๊ะอาหาร เจรจากับ 8 พรรคการเมือง ขณะนัดหมายฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  จะอ้างเหตุบังเอิญ ไปกินข้าวด้วยประชาชน เขาจะหัวเราะเอา  เพราะกฎหมายพรรคการเมือง ห้ามบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น ไปครอบงำ สั่งการ พรรคการเมือง  

ส่วนการโพสต์หรือการแสดงความคิดเห็นไม่ได้เป็นการให้ความเห็นทางวิชาการ แต่เนื้อหา เป็นลักษณะการชี้นำ ครอบงำพรรคก้าวไกลโดยชัดแจ้ง การโพสต์ระบุถึงรายละเอียด MOU การยอมถอยให้พรรคการเมืองอื่น การประนีประนอมเพื่อแลกกับการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

รวมถึง โควตาตำแหน่งประธานรัฐสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ตนมองว่า เป็นละอ่อนทางการเมือง การเรียนจบปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน ประเทศฝรั่งเศส ไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย เพราะลืมตัว กลัวเสียตำแหน่ง  การโพสต์ข้อความในลักษณะในนามเลขาธิการคณะก้าวหน้า ทำให้เห็นภาพเชื่อมโยง เป็นเนื้อเดียวกับพรรคก้าวไกล แยกไม่ออกจากกัน  

"ขณะนี้ นายปิยบุตร ไม่มีสถานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลแล้ว การชี้นำ ครอบงำพรรคก้าวไกล มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเป็นบทห้าม หากฝ่าฝืน นำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้"

เมื่อถามว่า เหตุใด นายปิยบุตร ออกมาทวงโควตาประธานสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นของพรรคก้าวไกล 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษราษฎร กำหนดเกมทุกอย่างในสภา มีเพียงตำแหน่งเดียว โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ถือเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนประธานสมาชิกวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา เป็นตัวแปรเล่ห์เหลี่ยมแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลผสม ส่งผลในการควบคุมเกมสมาชิกวุฒิสภาในการโหวตเสียงให้กับนายพิธาด้วย ตำแหน่งนี้ 

จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่า นายพิธา จะไปถึงตำแหน่งนายรัฐมนตรีหรือไม่ หากยกตำแหน่งนี้ ให้กับพรรคเพื่อไทย ไม่มีหลักประกันอะไรว่า เพื่อไทยจะไม่บิดพลิ้วทางการเมือง เพราะง่ายต่อการยกขึ้นกล่าวอ้างในการโหวตเลือกนายพิธา ว่า เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา เพราะหากเบี้ยวกลางคัน ผลทางกฎหมาย ประการแรก ขณะเสนอรายชื่อคู่แข่ง คู่แข่งอาจเสียบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางคัน แก้เกมไม่ทัน เรียกว่า แซงทางโค้ง รัฐบาลเสียงข้างน้อยย่อมเกิดขึ้นได้( ส.ส.ในสภาไม่ถึง 251 เสียง) 

ประการที่สอง หากเสียงไม่ครบ 376 เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้รัฐบาลรักษาการอยู่ยาว  หากเทียบเคียงกับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนละพรรคการเมือง สามารถกระทำได้ หากมีสัจจะทางการเมือง แต่สัจจะไม่มีในหมู่โจร ตั้งข้อสังเกตว่า MOU เน้นเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบาย ไม่ได้พูดถึงการต่อรองทางตำแหน่งทางการเมือง แสดงว่า นายปิยบุตร ไม่ได้อ่านไลน์กลุ่ม ไปคนละทิศทาง 

ทั้งนี้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งทางการเมือง MOU ยอมถอย แม้ประนีประนอม คือ การละทิ้งอุดมการณ์ เพื่อแลกกับการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แต่อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกลมีเพียง 152 เสียง หากพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ถอนตัว แล้วหันไปจับขั้วกับพลังประชารัฐ ตามกระแสข่าว การฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลนายพิธา พรรคก้าวไกลจบข่าวทันที เป็นฝ่ายค้านโดยปริยาย

 ดังนั้น ระยะเวลาเร็วเกินไปจะไปสรุปว่า พรรคก้าวไกลฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่ การสร้างอีเวนต์รายวันไปพบภาคอุตสาหกรรมของนายพิธา อาจเป็นข้อดีในการรับฟังความคิดเห็นของภาคอุตสาหกรรมของประเทศแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่ควรเอาเวลาไป ผูกมิตรกับสมาชิกวุฒิสภาก่อนอันดับแรกเพื่อรวบรวมเสียงมาเติมให้ครบ 376 เสียงก่อน ส่วนภาคประชาชนชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล จัดตั้งม็อบหน้ารัฐสภาวานนี้ เพื่อบีบให้สมาชิกวุฒิสภาให้โหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี วิธีการนี้ใช้ไม่ได้ผล ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะเอกสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นดุลพินิจเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งในร่างกฎหมายที่ 45 ฉบับที่ก้าวไกลจะเสนอเปิดประชุมครั้งแรก แม้ไม่ได้ระบุใน MOU จะเป็นตัวบดขยี้ก้าวไกลและเป็นไฮแจ๊คพลิกเกมทางการเมือง

เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยไทมไลน์ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มองว่า อย่างไร

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า กรอบระยะเวลาเป็นไปตามกลไกลรัฐสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่หากระยะเวลาที่กำหนดไว้เบื้องต้น ไม่อาจตั้งรัฐบาลได้ หมายความว่า พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่อาจรวบรวมเสียงทั้ง ส.ส.และ สว.ให้ครบ 376 เสียงขึ้นไป จะทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่า จะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง จะเห็นได้จาก การปรับย้ายกำลังพลของกองทัพ ประจำปี 2567 ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เป็นอำนาจเด็ดขาดตามกฎหมาย ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก กกต.