จดหมายเปิดผนึกถึงว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

จดหมายเปิดผนึกถึงว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เรียน ว่าที่ รมว.คลัง ที่นับถือ กระผมขอแสดงความยินดีกับท่านและพรรคของท่าน ที่ได้คะแนนนิยมท่วมท้นในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งน่าจะบ่งชี้ได้ว่าสาเหตุที่ประชาชนเลือกพรรคของท่าน เป็นเพราะเห็นด้วยกับนโยบายพรรคในรูปแบบ “รัฐสวัสดิการก้าวหน้า”

หากพิจารณานโยบายเร่งด่วนของพรรคของท่าน ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเชิงสวัสดิการสังคมและความเท่าเทียม รวมถึงจำกัดทุนผูกขาดเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลบวกต่อการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม แต่ผลบวกต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากเท่ามาตรการด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

จากการคำนวณของกระผม หากรัฐบาลพรรคท่านสามารถผลักดันมาตรการหลักที่หาเสียง โดยเฉพาะนโยบายด้านสวัสดิการต่างๆ แล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.7% จากประมาณการเดิม (ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำ และความเป็นไปได้ทางการเมืองด้วย)

ขณะที่หากเปรียบเทียบกับงานวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ศึกษาผลกระทบของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต่อเศรษฐกิจไทย พบว่าด้วยวงเงินที่ใกล้เคียงกัน (4.4 แสนล้านต่อปี หรือ 2.2 ล้านล้านบาทใน 5 ปี)

เศรษฐกิจไทยจะได้ผลกระทบโดยตรงระยะสั้นจากโครงการต่างๆ เป็นจำนวน 1.2% GDP และจะได้ผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น (Productivity) เพิ่มขึ้นถึงกว่า 73% ใน 5 ปีข้างหน้า

ที่ผ่านมา การขาดแคลนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับภาวะสังคมสูงวัยรวมถึงปัญหาทางการเมืองไทย ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยชะลอลงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงจากประมาณ 5% ในช่วงปี 2000 มาอยู่ที่ประมาณ 3.3% ในปัจจุบัน และมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอลงไปสู่ระดับ 2% ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวของประชากร ที่ไทยและจีนมีระดับใกล้กันที่ประมาณ 6,200 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ปัจจุบันจีนอยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์ ขณะที่ไทยอยู่ที่ 7,496 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

กระผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง กับนโยบายของท่านที่เพิ่มความเท่าเทียมให้กับประชาชน รวมถึงดูแลกลุ่มเปราะบางต่างๆ เพราะในปัจจุบัน สถานการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” เป็นจริงอย่างยิ่ง

รายได้ของคนไทยที่รวยที่สุด 10% ของประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนรายได้ถึงกว่า 33% ของรายได้ทั้งหมด มากกว่าคนชั้นกลางกว่า 5 เท่า และมากกว่าคนที่จนที่สุด 10% ของประชากรทั้งหมดกว่า 16 เท่า 

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำ (วัดจาก Gini Coefficient) เริ่มลดลงเป็นลำดับ แต่จะกลับมาเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ต้มยำกุ้งปี 1997 สึนามิปี 2547 วิกฤติการเมืองปี 2549 และช่วง COVID-19

กระผมจึงสรุปได้ว่า สาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยเป็นผลจากความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำเป็นหลัก และเมื่อมีปัจจัยใดมากระทบความสามารถเหล่านั้น เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ หรือความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอลง

ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ผู้ด้อยโอกาสและชาวรากหญ้า ฉะนั้น นโยบายเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ น่าจะเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำของไทยได้

กระนั้นก็ตาม กระผมก็เห็นด้วยกับหลักการของหลากหลายนโยบายของพรรคท่าน เพราะหากอนุมานจากแนวนโยบาย น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและ/หรือโอกาสในการทำธุรกิจให้กับธุรกิจขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดเงินตลาดทุนยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนในนโยบายเหล่านี้ ดังนั้น การอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจถึงแนวคิดและกระบวนการในนโยบายต่างๆ ของท่านจึงเป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากนั้น แนวนโยบาย “รัฐสวัสดิการก้าวหน้า” ของท่านมาพร้อมกับภาระทางการคลังที่กำลังจะมากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลต้องนำเงินไปสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 20% ของ GDP

มองไปข้างหน้า ภาระการคลังของเราก็จะยิ่งมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศสังคมสูงวัยแล้ว โดยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปี มีถึง 13.5% ของประชากรทั้งหมด และในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ประเทศสังคมสูงวัยสมบูรณ์ โดยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึงระดับประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาระทางการคลังในการดูแลผู้สูงอายุก็จะยิ่งมากขึ้น ซึ่งปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเนื่องจากภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น แปลว่ารายจ่ายดอกเบี้ยในอนาคตก็จะสูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาครัฐต้องนำรายได้เหล่านี้มาใช้กับรายจ่ายประจำที่ใช้แล้วหมดไป ในขณะที่รายจ่ายลงทุนที่เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์แห่งการเติบโตในอนาคตก็จะยิ่งลดลง

หากพิจารณาความเสี่ยงในระยะสั้น เหตุการณ์สำคัญที่กำลังจะเข้ามาถึงคือ สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย (Recession) ของประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นจากวิกฤต COVID-19 กลับแย่ลงไปอีก

นอกจากนั้น ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโทษและประโยชน์ให้กับไทย ในด้านโทษ สงครามระหว่างสองมหาอำนาจอาจเกิดขึ้นในไม่ช้า

แปลว่าไทยในฐานะคนกลางอาจถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในด้านประโยชน์ สงครามเย็นระหว่างทั้งสองประเทศ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนยังประเทศไทย 

เห็นได้จากการที่ไทยในปัจจุบัน กลายเป็นจุดสนใจของผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมากขึ้น โดยผู้ผลิตชั้นนำ เช่น BYD,  Changan และ Hozon ผู้ผลิต neta V ต่างประกาศแผนลงทุนในประเทศไทย โดยในปีที่แล้ว ประเทศไทยได้รับเงิน 3.4 พันล้านดอลลาร์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจากบริษัทในจีน (รวมถึงฮ่องกง) ซึ่งมากกว่าที่ได้รับจากสหรัฐหรือญี่ปุ่น

ท่ามกลางอนาคตที่ท้าทาย และสถานะทางการคลังของเราที่อ่อนแอลง รวมถึงประเด็นใหม่ๆ ที่รุมเร้า เช่น การกำกับดูแลตลาดเงินตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล การใช้มาตรการภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหา PM2.5

สิ่งเหล่านี้ รมว.คลังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน พิจารณาทั้งประเด็นเหลื่อมล้ำ ประเด็นความสามารถในการแข่งขัน และประเด็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการเงินการคลังระยะยาว 

นอกจากนั้น หากท่านและรัฐบาลของท่านสามารถแก้ไขกฎระเบียบ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันโดยไม่ส่งผลกระทบแง่ลบให้กับผู้เล่นรายเดิม รวมถึงยังคงสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งสัญญาณเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ก็จะยังประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจได้

ด้วยความหวังดีต่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา

ปิยศักดิ์ มานะสันต์