เมาแล้วขับ...ว่าที่ ส.ส.ลาออก! | ชิดตะวัน ชนะกุล

เมาแล้วขับ...ว่าที่ ส.ส.ลาออก! | ชิดตะวัน ชนะกุล

เป็นนิมิตหมายใหม่เมื่อปรากฏข่าว ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหนึ่ง แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเมื่อเกิดกรณีเมาแล้วขับ

 นับเป็นบรรทัดฐานของนักการเมืองไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต แม้ปรากฏข่าวอื้อฉาว น่าละอาย ไม่เหมาะสม ให้เห็นเสมอ โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็น การเสียบบัตรแทนกัน การดูคลิปโป๊ การโดดประชุม การอภิปรายด้วยความก้าวร้าว ใช้คำหยาบคาย ฯลฯ 

แต่ก็หามีสักครั้งที่บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติของรัฐสภา จะแสดงสปิริตขอโทษหรือลาออก เพื่อรับผิดชอบในการกระทำที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่มีหน้าที่สำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่กำลังจะเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติ

ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในประเทศที่พัฒนาแล้ว แสดงความรับผิดชอบเมื่อกระทำสิ่งไม่สมควรที่น่าสนใจ ดังนี้

กรณีแรก ในปี 2561 Baron Bates นักการเมืองพรรค Conservative ในสหราชอาณาจักร กล่าวขอโทษสำหรับ “ความไม่สุภาพ” และขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีจากการที่เขามาถึงช้าไป “หนึ่งนาที” เพื่ออภิปรายในที่ประชุมสภาสูง แต่ Theresa May นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการลาออก 

ในปี 2565 Gavin Williamson แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หลังจากส่งข้อความที่ไม่เหมาะสม มีความหยาบคาย และมีลักษณะข่มขู่ถึง Wendy Morton ด้วยความโกรธที่ไม่ได้รับเชิญไปงานพระศพของราชินี อาทิ “There is a price for everything” หรือก็คือคุณต้องได้รับผลจากการกระทำของคุณ “very shit” “You fuck us all over” ฯลฯ

ข้ามฟากมาแถบเอเชีย ในปี 2562 Yoshitaka Sakurada นักการเมืองประเทศญี่ปุ่นพรรค Liberal Democratic กล่าวขอโทษต่อสาธารณชนหลังจากมาประชุมรัฐสภาช้าไปสามนาที โดยฝ่ายค้านตำหนิว่า การไม่ตรงต่อเวลาของเขาแสดงถึงความไม่เคารพต่อตำแหน่ง ไม่เคารพรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดคือไม่เคารพประชาชน 

สองเดือนต่อมา Sakurada ซึ่งกล่าวถ้อยคำที่มีผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอนุมัติการลาออก พร้อมกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน หนึ่งในวาทะสำคัญของ Abe มีใจความโดยสรุปว่า

“ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมมีหน้าที่รับผิดชอบการแต่งตั้ง เมื่อรัฐมนตรีกล่าวถ้อยคำไม่เหมาะสม จึงมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอโทษกับการกระทำดังกล่าว”

จะเห็นได้ว่านักการเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วมีบรรทัดฐานเกี่ยวกับความประพฤติสูง ส่วนการปฏิบัติตนก็มีมาตรฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป ซึ่งมาจากหลักการสำคัญที่ว่า ระยะห่างระหว่างอำนาจของคนในสังคมต่ำ

กล่าวคือ ทุกคนในประเทศมีความสำคัญและควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค ผู้แทนปวงชนไม่มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน และยิ่งต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป

หากพรรคการเมืองใดสามารถสร้างบรรทัดฐานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ให้อยู่ในครรลองคลองธรรม เคารพกฎกติกาสังคม มีความละอายในการทำสิ่งไม่สมควร ดังเช่นนักการเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว ภาพประชาชนเทคะแนนให้ท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าคงอยู่ไม่ไกล

สำหรับคนไทยควรเปลี่ยนวิถีการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการใช้อารมณ์ ความชอบชังส่วนตัว ไปสู่การใช้เหตุผล เพื่อเป็นรากฐานแห่งระบอบประชาธิปไตยดังเช่นนานาอารยประเทศ!