จริยธรรม ‘เอไอ’ คืออะไร ทำไม ’รัฐ’ ต้องออกเกณฑ์คุม

จริยธรรม ‘เอไอ’ คืออะไร ทำไม ’รัฐ’ ต้องออกเกณฑ์คุม

หลัง สดช.ประกาศแนวทางปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) ไปแล้ว ขณะนี้ สดช.กำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เรื่องมาตรฐานการนำเอไอมาใช้ในประเทศไทย คาดว่าจะเสร็จภายในปลายปีนี้

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า “การใช้เอไอยังมีการถกเถียงกันทั้ง 2 ฝ่าย อีกฝ่ายคือขอให้เปิดเสรี สามารถทดลองกับมนุษย์ได้ แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เทคโนโลยีเอไอ ที่จะเข้ามาใช้ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น ไอโอที หรือ Chat GPT ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลขนาดใหญ่ ต้องถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม”

หานิยามวางแนวปฎิบัติ

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวมาจาก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอ โดยให้ดีอีเอสเร่งสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติจริยธรรมเอไอ

จริยธรรม ‘เอไอ’ คืออะไร ทำไม ’รัฐ’ ต้องออกเกณฑ์คุม

ทั้งในประเด็นของหลักคิด นิยาม และแนวทางการแปลงแนวปฏิบัติจริยธรรมไปสู่การปฏิบัติ โดยให้พิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานนำร่อง ในการดำเนินการในระยะแรก และประเมินผลการดำเนินการก่อนขยายผลในระยะต่อไป

เป็นเหตุให้ปีที่ผ่านมา สดช. ได้ดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสร้างความตระหนักรู้ การประยุกต์ใช้แบบมีจริยธรรม เพื่อรองรับการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Understanding Artificial Intelligence ethics in The New S-Curve Industries)

 

โรดแมปแบ่งเฟสทำงาน

โดยได้มีการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนจริยธรรมเอไอเพื่อขยายผลในระยะต่อไป จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ พัฒนาสื่อและคู่มือสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาเครื่องมือ ที่ช่วยในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพระบบเอไอรวมถึงมีการฝึกอบรมหลักสูตรการเรียนรู้ และการใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้น ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมในภาคทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์ไปแล้วจำนวน 4,112 คน ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สดช. มีแผนงานที่จะดำเนินโครงการสร้างความตระหนักรู้การประยุกต์ใช้เอไอแบบมีจริยธรรม โดยได้กำหนดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ไปสู่การปฏิบัติให้กับหน่วยงานนำร่อง จำนวนไม่น้อยกว่า 4 หน่วยงาน ไว้ในแผนการดำเนินงานโครงการ

“เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วโลก แต่อาจมีนักพัฒนาได้คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎ ระเบียบ และจริยธรรม การจัดทำเอกสารแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) ขึ้น เพื่อให้ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการ ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของตนเอง และให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิ และตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการใช้บริการ”

สร้างระบบนิเวศน์ให้เอื้อ

เขา กล่าวว่า หน้าที่ของรัฐคือต้องจัดให้มีหน่วยงานรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ ทั้งระดับประเทศและระดับองค์กรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงกำกับดูแลเอไอเพื่อทำให้มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ได้รับการพัฒนาและใช้งาน ครอบคลุมและเป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเอไอของประเทศภาครัฐจำเป็นต้องทำในเรื่องการพัฒนาระบบนิเวศน์ ของประเทศให้รองรับการพัฒนาเอไอ โดยขณะนี้ในเรื่องของกฎหมายกฎระเบียบต่างๆที่จะเป็นอุปสรรคการพัฒนาเอไอของเอกชนก็ได้มีการแก้ไขไปบ้างแล้ว และกฎหมายใหม่ที่จะควบคุมจนขัดขวางการสร้างสรรค์ และพัฒนาในเรื่องนี้ก็ยังไม่ควรที่จะออกมาเพื่อให้การทำงานและพัฒนาในอุตสาหกรรมเอไอของไทยสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด จึงมีการกำหนดเป็นเพียงแค่หลักจริยธรรมดังกล่าว

ปั้นคนตามยุทธศาสตร์ชาติ

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2565 - 2570 ตามมติคณะรัฐมมนตรีที่ได้กำชับและให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือการเพิ่มกำลังคนด้านเอไอของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยภายในปี 2570 ประเทศไทยจะต้องผลิตบุคลากรด้านเอไอได้ไม่น้อยกว่า 30,000 คน โดยในจำนวนนี้จะมีผู้ที่มีทักษะเอไอระดับสูงอยู่ด้วย 200 - 300 คน

นอกจากนั้นตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ฉบับนี้ ได้กำหนดผลลัพธ์ความสำเร็จในการพัฒนาเอไอของประเทศไว้อีก 3 ประเด็น นอกเหนือจากจริยธรรมเอไอ ได้แก่

1.การสร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พัฒนาศูนย์การเชื่อมโยงข้อมูล และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศที่ช่วยให้การประมวลผล และคำนวณขั้นสูง โดยเป้าหมายนี้จะนำไปสู่การลงทุนเอไอของประเทศเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี

2.การวิจัยพัฒนานวัตกรรมเอไอโดยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม แก่กลุ่มสาขาเป้าหมายสำคัญของประเทศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน (Core Tech) และการวิจัยเพื่อการสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยต้องเกิดนวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 100 นวัตกรรม และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 48,000 ล้านบาท

3.ส่งเสริมธุรกิจ และการใช้เอไอโดยส่งเสริมการใช้เอไอในภาครัฐ ส่งเสริมการใช้เอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงเอไอสู่การใช้งาน และพัฒนากลไก และแซนด์บ็อกซ์เพื่อนวัตกรรมทางธุรกิจ และเอไอสตาร์ทอัพ โดยต้องทำให้หน่วยงาน 600 หน่วยงานที่ใช้นวัตกรรมเอไอ