อัปเดต รวมรายชื่อ ส.ว. ล่าสุด แสดงจุดยืนพร้อมโหวต พิธา เป็นนายกฯคนที่ 30

อัปเดต รวมรายชื่อ ส.ว. ล่าสุด แสดงจุดยืนพร้อมโหวต พิธา เป็นนายกฯคนที่ 30

อัปเดต รวมรายชื่อ ส.ว. ล่าสุด ที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนพร้อมโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย พรรคก้าวไกล ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชนกำลังอยู่ระหว่างเจรจาพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

รวมรายชื่อ ส.ว. ล่าสุดที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนพร้อมโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งล่าสุดนั้น พรรคก้าวไกล ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชนกำลังอยู่ระหว่างเจรจา และมีรายงานว่า มีพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็น 9 พรรค รวม 314 ที่นั่งแล้ว

ท่าทีของ ส.ว.ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนพร้อมโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ หลายๆท่านเริ่มทยอยออกมาแสดงจุดยืนเป็นของตัวเองบ้างแล้ว ซึ่งมีใครบ้างนั้น ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมรายชื่อมาให้จากข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค.2566

ส.ว. โหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว 17 คนด้วยกัน ดังนี้

1. ส.ว.วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก โดยมีเนื้อหาระบุว่า

"การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคม ลุล่วงไปด้วยดี โดยมีประชาชนทุกช่วงวัยไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าชื่นใจอย่างยิ่ง ผลการเลือกตั้งอย่างไม่ เป็นทางการ บ่งขี้ว่าพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมีผู้สมัครได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามครรลองแห่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย

พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด ย่อมได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือ ผู้มีรายชื่อเป็นแคนติเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มี จำนวน ส.ส. มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสะที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ผมในฐานะส.ว.  เคยมีประสบการณ์ปฎิบัติงานสำคัญ รับใช้ซาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดย้งในบ้านเมือง ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมย์ ภายใต้สิทธิ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  สนับสนุนให้แคนติเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด ใต้ทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี"

2. นพ.อำพล จินดาวัฒนา

นพ.อำพล จินดาวัฒนา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "สานพลังสร้างไทย"

ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว

จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ

ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด

ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่า

ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้

สว.อำพล

3. ภัทรา วรามิตร

ส.ว. ภัทรา วรามิตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

4.ทรงเดช เสมอคำ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าสามารถเจรจา ส.ว. ทรงเดช เสมอคำ ซึ่ง ส.ว.ทรงเดช ยืนยันว่า พร้อมที่จะสนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชนที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

5. วัลลภ ตังคณานุรักษ์

ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระบุว่า ผมว่าผมชัดเจนมาโดยตลอดนะครับ ใครรวมได้เสียงข้างมากเกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาล ไม่มีใครขวางได้หรอกครับ เพราะครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้เป็นนายกฯ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ รวมเสียงได้เกิน 250 เสียง คราวนี้ก็ยึดหลักการเดียวกัน

6. วันชัย สอนศิริ

ส.ว. วันชัย สอนศิริ ออกมาโพสต์ล่าสุดเมื่อวานนี้ (17 พ.ค.66) ระบุว่า "จุดยืนไม่เปลี่ยน...

ขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าสิ่งที่โซเชียลเอาไปปะติดปะต่อ จับแพะชนแกะ เหมือนกับผมพูดให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น แล้วก็เอาคำพูดบางตอนมาตัดต่อขยายความกันไปสารพัด พูดมันส์ปากกันไปเรื่อยเปื่อย ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง เพราะกว่าจะมาถึงข้อความนั้นมันเป็นคำอธิบายว่า ถ้าโหวตแล้ว พรรคก้าวไกล ได้เป็นรัฐบาล ก็เป็นไปตามที่เสียงส่วนใหญ่โหวตให้ แต่ถ้าโหวตแล้วไม่ผ่าน ไม่ได้เป็น ก็ต้องให้คนอื่นเขาจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

พรรคก้าวไกลก็ไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญตามหลักการปกติ เป็นคำอธิบายในหลักการทั่วๆไป ไม่ได้ไล่ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ใส่สีตีไข่ไปกันใหญ่ แล้วการตัดต่อเสียงก็ไม่ได้ตัดมาให้ครบถ้วนมาตั้งแต่ต้น คนก็ไปฟังบางส่วนบางตอนเลยเข้าใจผิดกันไปใหญ่

โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า

  1. ใครรวมเสียงส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น
  2. เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
  3. เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงครับ... จบแล้ว... ต่อแต่นี้ขอนั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนาเพื่อความสงบร่มเย็น ณ วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน... มากราบหลวงพ่อสัมฤทธิ์ประสิทธิโชคกันนะครับ สาธุ

7.เฉลิมชัย เฟื่องคอน

ส.ว.เฉลิมชัย เฟื่องคอน ยืนยันว่า พร้อมโหวตให้ พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี หากรวมเสียงมาเกินครึ่งของ ส.ส. 500 คน ตนพร้อมโหวตให้

8.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล 

ส.ว. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ระบุว่า ตามหลักการก็ควรให้พรรคการเมืองที่ได้อันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน ส่วนตนเคารพเสียงของประชาชน เมื่อพรรคก้าวไกล ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 หรือจัดตั้งเกินครึ่งของ ส.ส. ก็พร้อมยกมือให้ ไม่มีปัญหา ส่วนตนสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการรักษาระบบของรัฐสภาเอาไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "พิธา" พอใจวงคุยตั้งรัฐบาล มั่นใจเอกภาพโหวตนายกฯ อีก 2 พรรคร่วม รวม 313 เสียง

- เปิดประวัติ ส.ว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ โต้คารมเดือด น.ต.ศิธา ปมโหวตนายกฯ พิธา

- เปิดรายชื่อ 63 ส.ว. เคยสนับสนุนการยกเลิกให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

 

9.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม

ส.ว. ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ระบุว่า รับฟังเสียงประชาชนแน่นอน และพร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่มาจาก ส.ส.ที่รวมกันได้มากกว่า 250 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้ยั่งยืนต่อไป

10.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล

ส.ว. รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เปิดเผยว่า แคนดิเดตนายกฯซึ่งปกติจะไม่เสนอชื่อคนเดียว แต่ถ้ามีคนเดียวแล้วเสนอ พิธา ก็ไม่ได้น่ารังเกียจ เพราะมาจากมติมหาชน ส.ส.เขตก็ได้มาก และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้เยอะ รวมกันแล้วได้อันดับ 1 ก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งองค์ประกอบที่จะพิจารณาพรรคร่วมมีใครบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร ตรงนั้นน่าสนใจกว่า

11.ประมาณ สว่างญาติ

ส.ว. ประมาณ สว่างญาติ บอกว่า ส่วนตัวไม่คัดค้านใครจะมาเป็นนายกฯ ขอให้เป็นไปตามมติของประชาชน ตนในฐานะเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเลือกจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน และมีความเชื่อมโยงจากประชาชน ส่วน ส.ว.ท่านอื่นก็ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจิตใจ แต่ตัวเองอยากให้ไปทางที่ไม่ขัดแย้ง ยิ่งมีมติประชาชนนำมาแล้ว ก็ควรที่จะไปทางนั้นมากกว่า

12.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผลการเลือกตั้งยืนยันชัยชนะของพรรคก้าวไกล ขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิม US และ EU โดยเฉพาะ กทม.ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งถึง 32 ใน 33 เขต รวมถึงจังหวัดปริมณฑลที่ชนะยกจังหวัดอีกหลายแห่ง และคะแนนบัตรสีเขียวที่มากมายถึงกว่า 14 ล้านเสียง

รอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ กกต.จะประกาศรับรองภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 15 วันหลัง กกต.ประกาศรับรองผล ส.ส. 95% แล้ว รัฐธรรมนูญ 60 กำหนดให้ต้องเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อปฏิญาณตน แล้วให้สภาผู้แทนฯเลือกประธานที่ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย

ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีโดย รธน.ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกฯเอาไว้ พล.อ.ประยุทธ์และ ครม.เดิมจึงต้องรักษาการไปก่อนจนกว่าจะโปรดเกล้าฯนายกฯคนที่ 30 ลงมา

ปัญหาคือ การร่วมโหวตนายกฯของ ส.ว. เพื่อให้เสียง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันเกิน 376 เสียง

สองพรรคคะแนนรวมกันแม้จะเกิน 250 เสียง แม้จะรวมพรรคในขั้วฝ่ายค้านเดิมก็ยังไม่ถึง 376 เสึยง

ถ้าดึงพรรคขั้วรัฐบาลเดิมมาได้มากพอก็สามารถปิดสวิทซ์ ส.ว.ไปได้เลย หรืออาจดึง ส.ว.บางส่วนมาร่วมโหวตเพื่อให้เสียงครบก็ไม่น่ายาก

ปัญหาคือใครจะเป็นแกนนำในการรวมเสียงให้เกิน 376 ระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย

พรรคก้าวไกลได้สิทธิก่อนตามประเพณี แต่ติดเรื่องใหญ่คือสถาบัน และหัวหน้าพรรคติดคุณสมบัติที่ถือหุ้นสื่อ ถ้ารวมเสียงไม่ได้ จึงจะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นผู้รวบรวมเสียงแทน และมีโอกาสสูงเพราะไม่ติดเงื่อนไขดังกล่าว แต่อาจมีปัญหาที่บางพรรคอาจไม่ยอมรับพรรคก้าวไกลในประเด็นแก้ไข ม.112 ยกเว้นสามารถเจรจาต่อรองกันได้ และการเมืองย่อมไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

ขั้วรัฐบาลเดิมมีโอกาสน้อยมากในการรวมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะคะแนนแตกต่างกันมาก ตั้งนายกฯได้ ตั้งรัฐบาลได้ ก็บริหารประเทศไม่ได้ ยกเว้นพลังประชารัฐจะไปจับมือกับเพื่อไทยแต่ก็ไม่ง่าย

ผลการเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าพรรคก้าวไกลชนะถล่มทลายเพราะอะไร พรรครวมไทยสร้างชาติโดยนายกลุงตู่ทำอะไรต่างๆมากมายให้ประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารปี 57 แต่ไม่สามารถได้ใจประชาชนแพ้การเลือกตั้งเพราะเหตุใด?

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ต้องเคารพเสียงของปชช.ครับ

13.ประภาศรี สุฉันทบุตร 

ประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ประกาศจุดยืนเคารพมติของประชาชน เห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญ รัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

14.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

ส.ว. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ระบุ "ผมจะใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตยที่ผมยึดมั่นมาโดยตลอด ให้การสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลโดยการโหวตให้พรรคที่สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)"

15.มณเฑียร บุญตัน

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภาที่ล่าสุดระบุว่า เตรียมโหวตตามน้ำ หมายถึง ให้ ส.ส.เป็นน้ำ ว่าอย่างไรก็ตามนั้นโดยไม่ต้องใช้สมองและวิจารณญาณ ขณะที่ประเด็นใหญ่อย่าง การแก้ไขมาตรา 112 หรือ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ส.ว. มณเฑียร ระบุว่า ไม่ต้องห่วง เรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาเป็นปีๆไม่ใช่ว่าจะทำได้เลย และต้องเปิดพื้นที่ให้คนมานั่งคุยกันทั้งคนที่เอาและไม่เอา

16.นพ.พลเดช ปิ่นประทีป 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ระบุว่า การโหวตเป็นไปตามเสียงข้างมากของ ส.ส. หากรวบรวมเสียงข้างมากได้เกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่า 250 เสียง ก็พร้อมโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถือเป็นฉันทามติที่ประชาชนต้องการ ส่วนเรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องระมัดระวังและรอบคอบมากๆ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต้องรอบคอบ เจรจาต่อรองกันให้ดี

17.พีระศักดิ์ พอจิต

โดย ส.ว. พีระศักดิ์ พอจิต ระบุว่าจะตัดสินใจโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เสียง ส.ส. เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ที่สำคัญคือเขามาจากเสียงข้างมากของประชาชนกว่า 14 ล้านเสียง ก็ต้องให้โอกาสเขา