ท่าที สว.โหวตเลือกนายกฯ 'เจน' ชี้วุฒิสมาชิกมีดุลพินิจตัดสินใจ

ท่าที สว.โหวตเลือกนายกฯ 'เจน' ชี้วุฒิสมาชิกมีดุลพินิจตัดสินใจ

เจน จำชันสิริ ชี้ สว.โหวตเลือกนายก ยังมีเวลาศึกษาข้อมูลนโยบายตัวเลือกนายกฯ คนใหม่ มั่นใจสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีดุลพินิจในการตัดสินใจก่อนโหวต หลัง ‘ก้าวไกล’ ประกาศเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน ซึ่งทำให้รัฐสภาไทยมีสมาชิกจำนวน 750 คน 

สำหรับการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.โดยพรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อลงคะแนนแบบเปิดเผย ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการข่านชื่อสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคลว่าให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม โดยชูนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

นายเจน จำชันสิริ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกพอสมควรกว่าจะถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องรับรองอย่างน้อย 95% จึงจะเปิดประชุมสภาผู้แทนรษฎรได้ และหลังจากนั้นจะต้องมาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงจะถึงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรี

“เมื่อถึงเวลานั้น ส.ว.แต่ละคนจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” นายเจน กล่าว

แหล่งข่าวจาก ส.ว.กลุ่มอาชีพ กล่าวว่า  อยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้นำทางการเมืองกับกลุ่ม ส.ว.เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันแทนที่จะใช้กระแสสังคมกดดันเพราะสว.ทุกคนต้องคำนึงถึงความสงบของบ้านเมืองเป็นลำดับแรก  ซึ่งเหตุผลที่จะให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วคือการใช้หลักการเสียงส่วนใหญ่ หรือ Majority ในการพิจารณาสรรหานายกรัฐมนตรีคนต่อไป 

แหล่งข่าวจาก ส.ว.กลุ่มอดีตข้าราชการ กล่าวว่า การลงคะแนนเสียงเลือกจะพิจารณาจาก 4 ปัจจัย ประกอบด้วย

1.การแก้คอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการจะจัดการอย่างไร

2.การปรับระบบงบประมาณเพื่อให้นโยบายต่างๆ มีประสิทธิภาพ

3.การแก้กฏหมายทั้งระบบเพื่อประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ

4.ความเห็นต่างที่ยากจะประณีประนอมเรื่อง ม.112 จะจัดการอย่างไร