ขั้วเสรีนิยมผนึก"ปิดฉาก 3 ป." จับตา ทางเลือก - ทางลง 2 ลุง

ขั้วเสรีนิยมผนึก"ปิดฉาก 3 ป."  จับตา ทางเลือก - ทางลง 2 ลุง

"พล.อ.ประยุทธ์" เตรียมทางลงให้ตัวเองอยู่แล้ว และกลับบ้านไปพร้อมๆ พล.อ.อนุพงษ์ ส่วน พล.อ.ประวิตร เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.จะอยู่ทำหน้าที่ในสภาได้ แต่จะลาออกอ้างปัญหาสุขภาพ

ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ถือเป็นการเปลี่ยนฉากการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อพรรคก้าวไกล ผงาดเป็นอันดับ 1 ขั้วเสรีนิยม เหนือพรรคเพื่อไทย ที่แลนด์ไถล พลาดเป้าที่ตั้งไว้ 

ผลเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ฮึดสู้ เพื่อรักษาขั้วอำนาจอนุรักษนิยมไว้ให้ได้ ก็อาจหมดโอกาสจะได้ไปต่อ

เนื่องจากตามหลักการ มารยาทการเมือง ย่อมต้องเปิดทางให้พรรคที่ได้คะแนนสูงสุด รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเสียก่อน หากไม่สามารถทำได้ ก็เป็นคิวพรรคอันดับถัดไป

จับความเคลื่อนไหวหลายพรรค ก่อนเลือกตั้ง ก็ได้เห็นดีลหลวมๆ กันล่วงหน้า จนกว่าจะรู้ตัวเลขของแต่ละพรรค ก่อนจะตัดสินใจว่า จะเลือกขั้ว ย้ายข้าง กันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเมือง ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร แม้ตอนหาเสียง แต่ละฝ่ายที่ห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย พร้อมตั้งเงื่อนไขต่างๆ นานา แต่เมื่อก้าวไกลชนะไม่ขาด ถึงขนาดแลนด์สไลด์ ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก็เป็นไฟต์บังคับ คือ รัฐบาลผสม ซึ่งจะเป็นการวัดสกิล ดีลกันให้ลงตัวที่สุด

2 เงื่อนไข สำคัญในการได้รัฐบาลใหม่ คือ รวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เกินกว่า 250 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และยิ่งเกินมากเท่าไร ก็ย่อมหมายถึงความมีเสถียรภาพมากเท่านั้น และอีกขั้นตอน คือการโหวตเลือกนายกฯ ของรัฐสภา ซึ่งเป็นการโหวตร่วมกันของ ส.ส.จากการเลือกตั้ง 500 คน และ ส.ว.250 คน รวมกัน 750 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งแคนดิเดตนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียงขึ้นไป

ทว่า ส.ว.250 เสียง มรดกตกทอดมาจาก คสช. ก็ยังเป็น "ตัวแปรสำคัญ" ในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนหมดวาระในปีหน้านี้ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ทำตามความต้องการของประชาชน  
ขณะเดียวกัน ก็ถูกจับจ้องว่าจะมี ส.ว.มากน้อยแค่ไหน ที่อาจหลีกเลี่ยง ด้วยการงดออกเสียงหรือไม่ หากชื่อนายกฯ ที่เสนอในสภาไม่ตรงกับเป้าหมาย แล้วจะส่งผลให้เกิดปัญหาใดตามมา 

ส่วนอีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามคือ การประกาศจากคนแดนไกล ทักษิณ ชินวัตร พร้อมเดินทางกลับบ้านเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างมั่นอกมั่นใจ ก่อนวันเกิดครบรอบ 74 ปี 26 ก.ค. นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นสัญญาณการเมือง ที่อาจมีดีลลับฝ่ายใด อันมีผลต่อการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้หรือไม่ โฟกัสการเมืองจึงจับไปที่พรรคก้าวไกลจะเลือกพรรคใด สูตรไหน ในการตั้งรัฐบาล 

หากทุกอย่างยึดหลักการเสียงข้างมาก ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน หนทางนี้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤติการเมืองตามมาภายหลัง

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็เตรียมทางลงให้ตัวเองไว้อยู่แล้ว ด้วยการไม่สมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของรวมไทยสร้างชาติ และคงกลับบ้านไปพร้อมๆ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ส่วน พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ จะอยู่ทำหน้าที่ในสภา ก็สามารถทำได้ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น บิ๊กป้อม ก็อาจมีข้ออ้างในการออกจากการเมืองด้วยเหตุผลปัญหาสุขภาพ

แต่หากสถานการณ์กลับตาลปัตร รวมไทยสร้างชาติพลิกเกม สามารถรวบรวมเสียงเกิน 250 จัดตั้งรัฐบาล ไม่ต่างกับพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะหวนกลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ อีกสมัยก็เป็นไปได้ เมื่อบวกกับ 250 ส.ว.ที่พร้อมยกมือโหวตเลือก

แน่นอนว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ย่อมต้องเป็นมือช่วยขับเคลื่อนบริหารงาน ไม่ตำแหน่งใด ก็ตำแหน่งหนึ่ง เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องไปด้วยกัน จึงพอทำนายได้ว่า ความสัมพันธ์อันไม่สู้ดีของพี่น้อง 3 ป.ที่ปรากฏให้เห็นก่อนหน้านี้ อาจเป็นเพียงเหลี่ยมคูทางการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยโกงความตายมาแล้วหนึ่งครั้ง และหากรอบนี้ทำสำเร็จ โอกาสที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ ครบเทอมในปี 2570 ก็เป็นไปได้สูง และยังมีโอกาสเดินไปตามโรดแมป คสช.ที่วางไว้  

แต่นั่นก็หมายถึง ต้องสกัด ก้าวไกล เพื่อไทย และแนวร่วมขั้วเสรีนิยมเอาไว้ให้อยู่ เพราะเป้าหมายสูงสุด "พี่น้อง 3 ป." ต้องปิดฉากการเมืองในสมรภูมิเลือกตั้ง 66 อย่างไม่มีโอกาสหวนคืน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์  ​