วิบากการเมือง “พิธา” จาก “งานศพพ่อ” ถึง “หุ้นสื่อ” รอ กกต.-ป.ป.ช.ชี้ขาด

วิบากการเมือง “พิธา” จาก “งานศพพ่อ” ถึง “หุ้นสื่อ” รอ กกต.-ป.ป.ช.ชี้ขาด

เปิดเส้นทางวิบากกรรมการเมือง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากปม “งานศพบิดา” ถึง “หุ้นสื่อ” ITV รอลุ้นคำวินิจฉัย กกต. ยังมีคดีใหญ่รอเชือดในชั้น ป.ป.ช. ช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 66

เรียกได้ว่ากำลังเป็น “ตำบลกระสุนตก” เลยทีเดียว สำหรับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่ถูกบางฝ่ายขุดคุ้ยคลิปให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “หนูแหม่ม สุริวิภา” เทียบกับการให้สัมภาษณ์ล่าสุดกับ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กรณีการกลับมางานศพบิดาช่วงรัฐประหารปี 2549 ไม่ตรงกัน 
    
“พิธา” อ้างว่า สาเหตุที่ไปอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในงานของรัฐบาลไทยที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมนั้น เพราะตนคือหนึ่งในคณะทำงานของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกฯยุคดังกล่าว

เมื่อโดนวิพากษ์วิจารณ์มากเข้า ร้อนถึงเจ้าตัวต้องรีบออกมาชี้แจงด่วนถึง “เหตุการณ์บีบหัวใจที่สุดในชีวิต” โดยโพสต์ภาพ พร้อมหลักฐานจากสื่อต่างประเทศ ยืนยันว่า นั่งเครื่องบินของรัฐบาลไทย กลับมาถึงไทยวันที่ 21 ก.ย. 2549 ทำให้มางานศพบิดาไม่ทัน 3 วันแรก แต่ทัน 3 วันหลัง โดยในช่วงเครื่องบินแลนดิ้งถึงสนามบินกองทัพอากาศนั้น “พิธา” อ้างว่า มีทหารเข้ามาตรวจค้นเครื่องบินอย่างละเอียด และมีการกักตัวราว 5-6 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี บุคคลระดับนำของรัฐบาลขณะนั้นที่นั่งอยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าวด้วยอย่าง “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” อดีตผู้แทนการค้าไทย สมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ออกมาพูดอีกมุมว่า ขณะนั้นตนคือหัวหน้าคณะที่มีตำแหน่งสูงสุดบนเครื่องบินลำดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงไทย ทหารขึ้นมาตรวจค้น แล้วก็ปล่อยไป ไม่ได้มีการกักตัวแต่อย่างใด
    
ส่วนประเด็นว่า “พิธา” เป็นหนึ่งในคณะทำงานของ “สมคิด” จริงหรือไม่นั้น “ปานปรีย์” ตอบว่า ไม่ทราบ ทราบเพียงว่าเป็นหลานของนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการส่วนตัว “ทักษิณ” เท่านั้น

เมื่อไม่ตรงกันดังนี้ ทำให้ “นักร้อง” อย่างศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที โดยกล่าวหาว่า การให้สัมภาษณ์ของ “พิธา” ดังกล่าว อาจเข้าข่ายจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอีกด้วยหรือไม่ ตามมาตรา 73(5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปีอีกด้วย

เรื่องนี้ยังไม่ทันซา เรื่องใหม่ก็ถาโถมเข้าใส่ “พิธา” อีก เมื่อเจ้าตัวถูกร้องประเด็นการถือครอง “หุ้นสื่อ” ในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ตำนานอดีตสื่อยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย โดยถูก “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อีกหนึ่งนักร้องดัง เตรียมยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ

“เรืองไกร” โชว์เอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลเมื่อ 7 เม.ย. 2566 พบว่า “พิธา” ยังคงเป็นผู้ถือหุ้น ITV ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในลำดับที่ 6,121 เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168 ที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 สัญชาติ ไทย จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
    
โดยประเด็นนี้ถูกเทียบเคียงกับอดีตหัวหน้า “พรรคส้ม” คนก่อนอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ “ตกม้าตาย” เพราะคดีหุ้นสื่อ บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด เมื่อปี 2562 แม้เจ้าตัวจะอ้างว่าบริษัทดังกล่าวปิดตัวลง และอยู่ระหว่างเสร็จชำระบัญชีก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือ บริษัทแห่งนี้ยังไม่เสร็จชำระบัญชีโดยสมบูรณ์ ดังนั้นจึงถือว่ายังดำเนินกิจการอยู่ เข้าข่ายถือครองหุ้นสื่อ ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ภายหลังรับตำแหน่งไม่นาน

เช่นเดียวกับ ITV ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ยังดำเนินกิจการการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ วัตถุประสงค์ สื่อโทรทัศน์อยู่ ตามที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อปี 2565 และปัจจุบันบริษัทยังมีความเคลื่อนไหวในการทำธุรกิจอยู่ โดยมีบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 52.9215% (บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 41.19%)

แม้ “พิธา” จะชี้แจงว่า การถือหุ้น ITV ดังกล่าว ไม่ใช่ถือในนามของตัวเอง แต่ถือในนามกองมรดกของบิดา เพราะตนเป็นผู้จัดการมรดก และเคยปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 แล้วว่าทำได้ ดังนั้นการยื่นเรื่องนี้ให้ตรวจสอบ ถือว่าเป็นการ “สกัด” พรรคก้าวไกล เนื่องจากกระแสนิยมตอนนี้กำลังสูง

แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ กูรูกฎหมาย และนักวิชาการหลายคน เปิดตำรากฎหมายวิเคราะห์เรื่องนี้กันว่า การที่ “พิธา” อ้างว่าถือหุ้นดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก แต่การแจ้งเอกสาร บอจ.5 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กลับปรากฏชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อย่างเดียว ไม่มีการแนบท้ายว่าเป็นผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด

นอกจากนี้ “พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์” บิดาของ “พิธา” เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2549 หากนับรวมถึงปัจจุบันคือ 17 ปีแล้ว เหตุใดจึงจัดการมรดกไม่เสร็จสิ้นอีก

และไม่ใช่แค่ 2 ประเด็นนี้ ปัจจุบัน “พิธา” ยังถูกสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ในประเด็นที่อาจเรียกได้ว่า “ชี้เป็นชี้ตาย” ทางการเมือง แว่วมาว่า ป.ป.ช.ดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอชงเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อลงมติ

หากท้ายที่สุด “พิธา” โดนลงดาบทางการเมือง จนถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องพ้นจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯไปด้วย หากการณ์เป็นเช่นนี้ “พรรคก้าวไกล” คงถึงคราวคับขันเต็มที ดังนั้นระดับนำในพรรค จึงจำเป็นต้องหาทางออกของเรื่องนี้โดยเร็ว

ทั้งหมดคือวิบากกรรม “พิธา” เท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้ บทสรุปของเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ต้องรอการชี้ขาดของ 2 องค์กรอิสระ กกต.-ป.ป.ช.เท่านั้น