สารพัดข้อกังขา "เลือกตั้งล่วงหน้า" ชนวนวิกฤตศรัทธา “กกต.”

สารพัดข้อกังขา "เลือกตั้งล่วงหน้า" ชนวนวิกฤตศรัทธา “กกต.”

"7 เสือ กกต." (กกต.) กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตก จากความผิดพลาดหลายปม ภายหลังจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. จนถูกเสียงประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตก จากความผิดพลาดหลายปม ภายหลังจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา จนถูกเสียงประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ลามไปถึงในโลกออนไลน์ ผุดแคมเปญผ่านเว็บไซต์ Change.org ล่าชื่อประชาชนเพื่อถอดถอน “7 เสือ กกต.” ออกจากเก้าอี้ ปัจจุบันมียอดประชาชนลงชื่อทะลุล้านคนแล้ว

ขณะที่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีผู้ใช้งานจำนวนมากแห่ติด แฮชแท็ก #กกตต้องติดคุก และ #กกตมีไว้ทำไม เพื่อแสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของ กกต.จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยไปเรียบร้อยแล้ว 

โดยส่วนใหญ่คือการโพสต์ภาพการทำงานที่ผิดพลาดของคณะกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ในระหว่างการลงคะแนนเสียง

ประเด็นสำคัญของปัญหาในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 7 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่หลักๆ คือกรณีการเขียนเขตเลือกตั้งที่หน้าซองผิด หรือการไม่เขียนรหัสเขตที่หน้าซองบัตร รวมถึงมีกระแสข่าวว่า มีการขนคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุไปลงคะแนนวันเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมาก

สำหรับปัญหาการเขียนเขตเลือกตั้งที่หน้าซองผิด หรือการไม่เขียนรหัสเขตที่หน้าซองบัตร เท่าที่มีการนำเสนอผ่านสื่อ พบว่า เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ และนนทบุรี จำนวนหลายร้อยใบ โดยมีประชาชนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า บัตรเลือกตั้งที่พวกเขากานั้น จะส่งถึงเขตเลือกตั้งจริงของพวกเขา เพื่อนำไปนับรวมคะแนนเสียงในวันกาบัตรจริง 14 พ.ค.นี้หรือไม่ หรือว่าจะกลายเป็น “บัตรเสีย”

อย่างไรก็ตาม “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ที่มารับ “หน้าเสื่อ” ชี้แจงประเด็นดังกล่าว ยอมรับว่า เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ แต่ขอตรวจสอบก่อนว่า เป็นความผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่ พร้อมกับยืนยันว่า เหตุการณ์นี้จะไม่ซ้ำรอยในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. เพราะวันดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งตามหน่วย ไม่มีการใส่ซองส่งไปรษณีย์แล้ว

สารพัดข้อกังขา \"เลือกตั้งล่วงหน้า\" ชนวนวิกฤตศรัทธา “กกต.”

“ชูวิทย์”แฉเกณฑ์คนเลือกตั้งล่วงหน้า

ถัดมาคือกรณีการ “ขนคน” ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าในหลายจังหวัด แต่ที่ร้อนแรงสุดหนีไม่พ้นพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ เมื่อ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตนักการเมืองดัง ออกมาแฉภาพถ่าย พร้อมคลิปวีดีโอ อ้างว่าได้มาจากประชาชนในพื้นที่ พบความผิดปกติในการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยมีหัวคะแนนนำผู้สูงอายุมาลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนกว่า 7,000 คน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้ วันจริงไม่น่าจะติดธุระพร้อมกัน จนต้องมาเลือกตั้งล่วงหน้า

“ชูวิทย์” เสนอไปยัง กกต.ให้ยกเลิกการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น ตั้งแต่การออกแบบบัตรเลือกตั้ง จนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะ กกต.ไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความยุติธรรม แต่กลับแถลงข่าวว่า การเลือกตั้งเรียบร้อย พร้อมกับเรียกร้องให้ กกต.ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์เหล่านี้

“ก้าวไกล”กังขา 4 ปม

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล โดย “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” รองหัวหน้าพรรค ออกมาแฉซ้ำ 4 รูปแบบความผิดปกติในการเลือกตั้งล่วงหน้า คือ 

1.คณะกรรมการประจำหน่วย ไม่กรอกข้อมูลและตัวเลขหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง บางคนกรอกเลขเขตเลือกตั้งผิด

2.กกต.ไม่ติดรูปภาพและข้อมูลผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล หน้าหน่วยเลือกตั้ง

3.ความผิดปกติของจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในบางจังหวัดมีผู้ออกมาใช้สิทธิในสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ย

4.ประชาชนจำนวนไม่น้อย ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว แต่เมื่อไปตรวจสอบหน้าหน่วยเลือกตั้ง กลับไม่พบชื่อของตัวเอง

 

กกต.ยันเลือกตั้งไม่โมฆะ

เผือกร้อนเหล่านี้ถูกโยนไปยัง “เลขาธิการ กกต.” อีกครั้งที่ต้องออกมาชี้แจง โดยระบุว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566 มีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ แต่สั่งให้ ผอ.กกต.ทุกจังหวัด รายงานเข้ามาทุกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าว ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร เป็นเรื่องดี ที่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ พร้อมยืนยันว่าในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 จะไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอีก และคาดว่าเลือกตั้งในวันดังกล่าว การบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะไม่ต้องส่งไปรษณีย์ และบุคลากรที่จะทำงานมีมากกว่านี้

ส่วนประเด็นการคัดแยกบัตร การเขียนรหัสจังหวัดผิดพลาดนั้น เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยบัตรทุกใบไม่ใช่บัตรเสีย คะแนนเสียงไม่ตกน้ำอย่างแน่นอน

“ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไม่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะแต่อย่างใด สามารถเดินหน้าเลือกตั้งต่อได้” แสวง ยืนยัน

อย่างไรก็ดีกรณีนี้ ถูกหลายฝ่ายนำไปขยายผล เปรียบเทียบความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งปี 2562 โดยเฉพาะประเด็นยอดบัตรเลือกตั้ง กับยอดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกัน ที่ กกต.ชุดเดียวกันนี้เอง พูดแก้เกี้ยวปัญหาดังกล่าวว่าเกิดจากสาเหตุ “บัตรเขย่ง” จนเป็นที่ติดหูถึงทุกวันนี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ กกต.จำเป็นต้องทำต่อไปคือ ฟื้นศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาให้ได้ มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกเป็นหางว่าว และอาจกระทบไปถึงการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของประชาชน จนเสี่ยงเกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นได้อีก

สารพัดข้อกังขา \"เลือกตั้งล่วงหน้า\" ชนวนวิกฤตศรัทธา “กกต.”

 

ไอลอว์ผุด 5 มาตรการจับตาโกงการเลือกตั้ง

ขณะที่ iLaw (ไอลอว์) คณะทำงานภาคประชาชน ที่เคยร่วมลงนาม MOU กับ กกต.เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนจับตาการโกงการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. โดยยังต้องจับตาการทำงานของผู้จัดการเลือกตั้ง ด้วยการติดตาม เก็บหลักฐาน ส่งเสียงต่อสาธารณะ ยืนยันสิ่งที่ควรจะเป็น ทุกคนช่วยกันได้ จำนวน 5 ข้อ ดังนี้

1. สร้างความตื่นตัว ให้คนไปใช้สิทธิให้เยอะที่สุด ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 มีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณร้อยละ 75 ถือเป็นอัตราส่วนที่ไม่น้อย แต่หมายความว่า เราไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่า ประชาชนอีกร้อยละ 25 หรือกว่าแปดล้านคนกำลังคิดอะไรอยู่ โดยใช้ช่องทางของตัวเองรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด

2. ส่งต่อความรู้ เรื่องกติกาการเลือกตั้งใหม่ ในปี 2566 จะใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบแรกเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต และใบที่สองเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และคำนวนที่นั่งด้วยสูตรที่เรียกว่า “หารร้อย” โดยการส่งต่อความรู้เรื่องกติกาการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ทุกคนช่วยกันทำได้

3. จับตาการเลือกตั้ง จับผิดว่า มีทุจริตหรือไม่ ภารกิจจับตาตรวจสอบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส่หรือไม่ หรือมีการทุจริต มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อโกงการเลือกตั้งหรือไม่ เป็นภารกิจสำคัญ ที่ต้องอาศัยพลังจากประชาชนที่อยู่ทุกที่ทุกหนแห่งช่วยกันจับตาตรวจสอบ และอาจทำได้ 3 ระดับ จับตาการทุจริต การซื้อเสียง การข่มขู่หลอกลวง การใช้อิทธิพล

จับตาการนับคะแนน สามารถสมัครเป็นอาสาจับตาการนับคะแนนได้แล้ววันนี้ ทางเว็บไซต์ vote62.com จับตาการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การใช้อำนาจรัฐหรือนโยบายของรัฐเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับผู้สมัครหน้าเก่า ฯลฯ

4. สอดส่องโลกโซเชียล หากประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดียพบเห็นลักษณะของการใช้ข้อมูลเท็จโจมตีทางการเมืองอย่างเป็นระบบที่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามธรรมชาติของการใช้โซเชียลมีเดีย หรือ Coordinated Unauthentic Behavior ซึ่งขัดต่อมาตรฐานของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต่อก สามารถเก็บหลักฐานและส่งเรื่องร้องเรียน (Report) ไปยังผู้ให้บริการได้โดยตรง

5. ยืนยันหลักการจัดตั้งรัฐบาลให้สะท้อนเสียงประชาชน สิ่งที่ประชาชนทำได้เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2566 เดินหน้าไปตามมติที่ประชาชนออกเสียงโดยไม่ถูกแทรกแซงโดยอำนาจอื่นๆ

 

รับอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง3ระดับ

นอกจากนี้ เปิดรับอาสาสมัครเพื่อจับตาการเลือกตั้งในปี 2566 ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย

1. อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งแบบเต็มวัน ตั้งแต่เริ่มก่อนเปิดหน่วยตอนเช้า ระหว่างการลงคะแนนของประชาชน จนกระทั่งปิดหน่วยและนับคะแนน

2. อาสารายงานคะแนนต่อคะแนนแบบ ‘Quick Count’ กิจกรรมนี้ริเริ่มโดยสมาคมวิชาชีพด้านสื่อมวลชนหลายแห่ง ใช้ชื่อว่า The Watcher ซึ่งเล็งเห็นปัญหาว่า คะแนนที่ กกต. ส่งให้สื่อมวลชนอาจมีความล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง และกว่าที่ กกต. จะเริ่มส่งคะแนนให้ก็เป็นเวลา 18.30 น. เป็นต้นไป จึงต้องการคะแนนแบบเรียลไทม์ที่เชื่อถือได้ มารายงานผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ เพื่อส่งผลไปสู่สายตาประชาชนโดยเร็วที่สุดหลังปิดหีบเลือกตั้ง

3. อาสาจับตาคะแนน กิจกรรมนี้เรียกว่า Vote62 ริเริ่มโดย Opendream, Rocket Media Lab และ iLaw โดยเริ่มชวนอาสาสมัครจับตาการนับคะแนนมาตั้งแต่ปี 2562 และทำต่อเนื่องมาในการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งซ่อม จนถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งเชิญชวนให้ทุกคนออกจากบ้านไปดูการนับคะแนนของ กปน. ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

โดยตรวจสอบว่าการขานคะแนน การขีดคะแนน และการรวมผลคะแนนถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าถูกต้องแล้วก็ถ่ายภาพกระดานขีดคะแนนทุกแผ่น ส่งเข้ามายังเว็บไซต์ Vote62.com และกรอกคะแนนจากภาพที่เห็นให้เป็นตัวเลขดิจิทัลเพื่อนำไปรวมผลคะแนน