ทำไมโพลถึงมีสิทธิ์เพี้ยน | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ทำไมโพลถึงมีสิทธิ์เพี้ยน | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

โพลการเมืองมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะโพลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การทำโพลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทางว่าผลการเลือกตั้งใกล้เคียงกับผลโพล หรืออาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าผลที่ออกมาทำให้คนทำโพลหน้าแตกไปตาม ๆ กัน

ตามความเชื่อของคนทั่วไป  การทำโพลนั้น  กลุ่มตัวอย่างยิ่งมาก  ก็ยิ่งมีความแม่นยำ ในความเป็นจริง  ขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่อย่างเดียวไม่เพียงพอ  การกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างก็มีความสำคัญเช่นกัน  กลุ่มตัวอย่างขนาด 500 คน  ที่มีการกระจายตัวดี  ย่อมให้ผลที่น่าเชื่อถือกว่ากลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน  แต่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม

โจทย์ที่ผู้ทำโพลต้องตีให้แตก  คือ  จะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบไหนที่จะทำให้กลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรทั้งหมด  การสุ่มตัวอย่างและการคำนวณผลจึงต้องอิงอยู่กับหลักวิชาทางสถิติ  เพราะหลักทางสถิติจะบอกเราว่า  การสุ่มตัวอย่างแต่ละวิธี  ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างเท่าไหร่คำนวณด้วยวิธีไหน จึงจะเหมาะสม

สมมติฐานเบื้องหลังของทฤษฎีทางสถิติเหล่านี้  คือ  กลุ่มตัวอย่างทุกคน  มีแนวโน้มที่จะตอบ  หรือไม่ตอบคำถามแบบ 50 : 50 นั่นแสดงว่า  หากประชากรในกรุงเทพฯ 100 คน  ประกอบไปด้วยข้าราชการ 30 คน  พนักงานบริษัท  40 คน  พ่อค้าแม่ค้า 30 คน  

การสุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติ 100 คน เราควรได้คนตอบที่เป็นข้าราชการประมาณ 30 คน  พนักงานบริษัทประมาณ 40 คน  พ่อค้าแม่ค้าประมาณ 30 คน อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้นิดหน่อยก็ยังพอรับได้

หากโอกาสตอบหรือไม่ตอบคำถามของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 50 : 50 จริงสำหรับคนทั้งสามกลุ่ม  ผลที่ออกมาจากการสำรวจก็จะสะท้อนความเห็นได้ค่อนข้างดี

 

แต่โอกาสที่แต่ละคนจะตอบหรือไม่ตอบคำถามนี่แหละ ที่เป็นปัญหาในการทำโพลช่วงก่อนเลือกตั้ง  เพราะคนที่ยอมให้เวลากับการตอบคำถามของผู้ทำโพลส่วนหนึ่งเป็นคนที่อยากแสดงออก อยากพูด อยากระบายอยู่แล้ว จึงแนวโน้มในการ “อยากตอบ” มากกว่า 50 : 50

โดยหลักคนที่อยากตอบจะมีสองกลุ่มด้วยกัน (ไม่นับกลุ่มคะแนนเสียงจัดตั้งที่บางพรรคจ้างให้ไปรอตอบโพลเพื่อปั่นกระแส) 

กลุ่มแรก  คือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะทางเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง  จนไม่พอใจกับการทำงานของรัฐบาล  ไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะเกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล  หรือเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ก็ตาม 

กลุ่มที่สอง  คือ  กลุ่มที่มีความรักใคร่ชอบพอผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ

การเลือกตั้งครั้งไหนที่มีคนสองกลุ่มอยู่ ถึงผู้ทำโพลจะสุ่มตัวอย่างให้ตามหลักสถิติ  ความเพี้ยนก็ยังมีอยู่ดี  ยกตัวอย่างเช่น  ข้าราชการที่สุ่มมา 30 คน  อาจมีคนสามกลุ่มนี้รวมกันอยู่จำนวน 15 คน  หรือครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง  สมมติว่า  คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะตอบหรือไม่ตอบคำถามเท่ากับ 80 : 20  นั่นแสดงว่า  ใน 15 คนของคนกลุ่มนี้  จะมีคนยินดีตอบคำถามของผู้สำรวจ 12 คน 

ถ้าคนกลุ่มที่เหลืออีก 15 คน  มีแนวโน้มที่จะตอบหรือไม่ตอบคำถามเท่ากับ 50 : 50  แสดงว่า  ใน 15 คนของกลุ่มนี้จะมีคนยินดีตอบคำถามของผู้สำรวจจำนวน 7 ถึง 8 คน  ทำให้แม้ว่าผู้ทำโพลจะพยายามทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โอกาสที่ผลสำรวจจะคลาดเคลื่อนก็ยังเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้แล้ว ช่วงเวลาที่สำรวจก็มีผลเช่นกัน เช่น ในปี 1948 แกลลัพทำการสำรวจเพื่อคาดการณ์ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่าจะมีคนโหวตให้โธมัส ดิวอี้ราว 45% และแฮรี่ ทรูแมนราว 41% เลยทำให้สื่อเอาพาดหัวข่าวกันล่วงหน้าว่าดิวอี้จะเป็นผู้ชนะ

แต่พอผลคะแนนจริงออกมาปรากฎว่าสัดส่วนของทรูแมนคือ 50% และดิวอี้ 45% ผลของดิวอี้เป็นไปตามโพล แต่ผลของทรูแมนสูงกว่าผลโพล เพราะแกลลัพหยุดสำรวจก่อนเลือกตั้งหลายสัปดาห์ เนื่องจากเชื่อว่าผู้ลงคะแนนคงไม่เปลี่ยนไป แต่ผลที่ออกมาไม่ได้เป็นแบบนั้น เลยทำให้ผลของโพลเพี้ยนไป

ตามหลักจรรยาบรรณทางวิชาการ  ผู้ทำโพลควรบอกให้สังคมทราบว่า  โอกาสที่ผลโพลจะคลาดเคลื่อนนั้นมีอยู่เท่าไหร่  หากผู้ทำโพลจะฟันธง  ก็ต้องบอกให้สังคมทราบว่า  เกณฑ์ที่ใช้ประกอบการฟันธงนี้มีเกณฑ์อะไรบ้าง  

 แต่ถ้าคิดแบบใจเขาใจเรา  ผู้ทำโพลเองก็คงลำบากใจในการรายงานผลแบบนี้  เพราะอาจไม่ได้รับความสนใจจากสื่อและสังคม  เลยต้องรายงานแค่ผลสำรวจ 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าโพลไม่มีความสำคัญ เพียงแต่เราต้องเสพข้อมูลที่ได้ด้วยความระมัดระวัง จะได้ไม่เชื่อโพลจนไม่ลืมหูลืมตา ต้องรอดูกันว่า สุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นแลนด์สไลด์ แลนด์ไม่สไลด์ หรือแลนด์สไลด์มากกว่าที่คิด

คอลัมน์ หน้าต่างความคิด

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

[email protected]