รอดูไส้ใน! ศาล ปค.สูงสุดสั่ง ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลคดีนาฬิกา “ประวิตร” แล้ว

รอดูไส้ใน! ศาล ปค.สูงสุดสั่ง ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลคดีนาฬิกา “ประวิตร” แล้ว

เตรียมดูไส้ใน! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่ง ป.ป.ช.เปิดเผยรายงานการสอบทรัพย์สิน-ความเห็นเจ้าหน้าที่-รายงานการประชุม คดี “แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน” หลังตีตกข้อกล่าวหา “พล.อ.ประวิตร” แล้ว

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ที่ห้องพิจารณาคดี 14 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่นายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

โดยคดีนี้นายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงาน ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีกล่าวหาว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ภายหลังคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ มีคำวินิจฉัยให้สำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คดีกล่าวหา พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือไม่ หรือที่รู้จักกันในคดี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” โดยให้เปิดเผย 3 รายการ ได้แก่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด 2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สำนักงาน ป.ป.ช.เพิกเฉย นายวีระจึงนำคดีนี้มาฟ้อง

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 36 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) แล้วเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อห้ามบางประการในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้ อันถือได้ว่าเป็นกรณีของข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย ซึ่งมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ก็บัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ เว้นแต่เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว เจ้าหน้าที่เห็นว่า ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว โดยบัญญัติให้เป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญชา และคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร ที่จะมีคำสั่งและคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

ดังนั้น พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงไม่ได้ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.ป.ป.ป.ช. เพียงแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารในบางกรณีที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดไว้ได้ เมื่อได้ชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับขัดแย้งกันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ หรือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลัง

เนื่องจากแม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นให้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีหน้าที่ตามมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ป.ป.ป.ช. หรือกฎหมายอื่น รวมถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่ว่า หากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้เปิดเผยจะมีโทษตามมาตรา 180 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.นั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำของของผู้ฟ้องคดี เป็นการเปิดเผยข้อมูลหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้วว่า ไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ประกอบกับกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข อันมีผลให้ข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้ว ตามข้อ 24 ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริตและถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว ก็ไม่ต้องมีความรับผิดและมีโทษตามกฎหมายใด ๆ รวมถึงมาตรา 180 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 20 (1) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1, 2 เฉพาะความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เสนอประกอบการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และรายการที่ 3 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารฯ ลงวันที่ 22 ส.ค. 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้สำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 และ 2 เฉพาะความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เสนอประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และรายการที่ 3 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด อย่างไรก็ดีสำนักงาน ป.ป.ช.และนายวีระ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม : https://drive.google.com/file/d/185PPyws7UnuCCTzQc_GKUImnCw5h3XVX/view