"นักวิชาการ" ประเมินเกมเลือกตั้ง "พท." ต้องเกาะกระแส "ก้าวไกล"

"นักวิชาการ" ประเมินเกมเลือกตั้ง "พท." ต้องเกาะกระแส "ก้าวไกล"

"สติธร" มองเกมเลือกตั้ง "พท." ต้องเกาะกระแส "ก้าวไกล" หวังชิงคะแนน "ฝั่งประชาธิปไตย" ที่ยังลังเล พร้อมประเมิน ขั้ว3ป. ยังมีแต้มต่อทางการเมือง

นายสติธร ธนานิติโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ถึงการสำรวจคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งที่พบว่า พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ว่า การสำรวจความนิยมดังกล่าวไม่ถึงขนาดที่จะชี้ถึงผลของการเลือกตั้ง แต่ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นมีลุ้นทุกฝ่าย โดยฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เป็นฝั่งเสรีนิยมยังได้รับความนิยมในประชาชนที่เป็นฝั่งเดียวกัน อย่างไรก็ดีไม่ได้แปลว่า ฝั่ง3ป. จะไม่มีที่ยืน เพราะในหลายพื้นที่ยังพบว่า พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติชนะขาด

 

“จากผลสำรวจที่ออกมา ทำให้เห็นว่าฝั่งประชาธิปไตยมีมากกว่า หากประเมินอาจจะมี 60% ส่วนอีกฝั่งมี 40% ทำให้เห็นว่าตัวเลขที่ออกมา ไม่ได้ห่างกัน คือ ฝั่งประชาธิปไตย ได้ 280- 290 เสียง ขณะที่อีกฝั่งได้ 220 เสียง ดังนั้นยังพอสู้กันได้ ดังนั้นต้องพิจารณาในช่วงการหาเสียงต่อจากนี้ว่าแต่ละพรรคจะใช้กลยุทธ์สู้เลือกตั้งอย่างไร” นายยสติธร กล่าว

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งรอบนี้ จะเป็นทางลงจากหลังเสือของ ขั้วอำนาจ3ป. ที่ยึดอำนาจหรือไม่ นายสติธร  กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะประเมิน เนื่องจากในสมการของการตั้งรัฐบาลยังมีส่วนผสมของ ส.ว. 250 เสียงอยู่ แม้หลายฝ่าย รวมถึงนักการเมืองเรียกร้องให้ พรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ส.ส.สูงสุดตั้งรัฐบาลได้ก่อน แต่โอกาสของการเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยยังเป็นไปได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญในประเด็นการเลือกนายกฯ ไม่กำหนดระยะเวลาว่าต้องได้ นายกฯ​ ภายในระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นการเลือกนายกฯในรัฐสภา จากส.ส.และส.ว. อาจเป็นปัจจัยสำคัญ คือ ส.ว. ล็อคคนที่จะเป็นนายกฯ ไว้ ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลจากขั้วพรรคการเมืองต่างๆ

 

"หากหาคนที่เป็นนายกฯ ไม่ได้ อาจทำให้เห็นปรากฎการณ์ย้ายขั้ว หรือ เสียสัตย์เพื่อชาติ เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อชาติได้ เหมือนกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะคุณธรรมของนักการเมืองหลังเลือกตั้งเชื่อถือได้น้อย อีกทั้งหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หลังเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการปัจจุบันยังมีอำนาจและหน้าที่บริหารประเทศต่อไปได้"นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว

 

 

นายสติธร กล่าวด้วยว่าในการเลือกตั้งปี2562 สถานการณ์การเมืองไทยเผชิญกับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ทำให้เกิดความไม่เสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นหากจะเกิดขึ้นอีก และมีผลต่อการพิจารณากฎหมายสำคัญ หรือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ กฎหมายไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ที่จะทำให้ฝ่ายเดิมกลับเข้าสู่อำนาจได้อีก

“ผมมองว่าหากจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยเสียงข้างมากที่จะปิดประตูนักการเมืองที่จะฝืนมติของประชาชน คือ รวมเสียงให้ได้ 350 เสียงขึ้นไป  แต่หากรวมเสียงได้แบบก้ำกึ่ง 280 เสียง ต่อ 220 เสียง จะเกิดความไม่แน่นอน  ดังนั้นการเลือกตั้งปี2566 ผมขอนิยามว่าคือการเลือกตั้งที่ไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้” นายสติธร กล่าว

 

 

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งปี2566 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบได้หรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า วันนี้ยาก เพราะการเลือกตั้งปี2566 อยู่ภายใต้กติกาครึ่งใบ ส.ว.ยังมีสิทธิเลือกนายกฯ  ดังนั้นหากอยากให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ต้อง รอให้ส.ว. ชุดปัจจุบันที่มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ หมดวาระ ในช่วงปี2567

 

เมื่อถามย้ำว่าการเลือกตั้งรอบนี้ 3ป. จะใช้เป็นทางลงจากอำนาจและรอดจากการถูกเช็ตบิลหรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าจะมี 1ป.ที่รอด คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะเชื่อว่าจะพล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหนึ่งในสมการจัดตั้งรัฐบาล

 

เมื่อถามว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ประกาศจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ก่อรัฐประหาร นายสติธร กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นเพียงการแก้เกม เนื่องจากคะแนนของพรรคเพื่อไทยสูสีกับ พรรคก้าวไกล ดังนั้นจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในฝั่งประชาธิปไตยลังเลระหว่างจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้กลยุทธ์ที่เกาะกระแสพรรคก้าวไกล หากนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ประกาศแล้วพรรคเพื่อไทยรับได้ ไม่เสียหาย จะประกาศด้วยเพื่อเอาคะแนนช่วงก่อนลงคะแนนเลือกตั้ง

 

นายสติธ กล่าวต่อว่าส่วน พล.อ.ประวิตร ที่เคยเป็นแกนนำ คสช. นั้น หากพรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลต้องหาเหตุผล ซึ่งตนมองว่ายังพอมีเหตุผล ทั้งนี้ในสมการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในทุกสูตรจะขาดพรรคคพลังประชารัฐไม่ได้ หากต้องการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในสมการ 376 เสียง.