เลือกตั้งไทย...มองไกลถึงสวีเดน | ชิดตะวัน ชนะกุล

เลือกตั้งไทย...มองไกลถึงสวีเดน | ชิดตะวัน ชนะกุล

ใกล้วันเลือกตั้ง พรรคการเมืองน้อยใหญ่พร้อมใจชูนโยบายสวัสดิการเพื่อประชาชน หากทว่า ยังไม่ปรากฏพรรคการเมืองใดประกาศจุดยืนจะปฏิรูปภาษี สำหรับเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ และขจัดปัญหาคอร์รัปชัน

เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นนั้นแล้ว สวัสดิการเพื่อประชาชนจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงหรือ วันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวและหัวใจสำคัญของรัฐสวัสดิการสวีเดน

สวีเดนหนึ่งในประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า มีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุด ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

          รัฐสวัสดิการประเทศสวีเดน เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของพรรค Swedish Social Democratic (SAP) ซึ่งชูนโยบายสังคมเท่าเทียม โดยการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เพื่อสร้างสวัสดิการให้ประชาชน

ในระยะเวลาของการบริหารประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2475 ถึงปี พ.ศ. 2519  รัฐบาลของพรรค SAP ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวีเดน ให้เข้าสู่ระบบสวัสดิการทั้งหมด

กล่าวคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การศึกษาทุกระดับ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีบำนาญชราภาพ การคุ้มครองจากการว่างงาน และผลประโยชน์ทางสังคมอื่นๆ

          แม้ว่าชาวสวีเดนได้รับประโยชน์จากสวัสดิการของรัฐเต็มรูปแบบ มีความสะดวกสบาย มีความมั่นคงในชีวิต แต่ประชาชนต้องเสียภาษีหนักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ประเทศไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ประเทศสวีเดนและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่เดนมาร์คและนอร์เวย์เก็บ VAT ที่ 25% ซึ่งรวมอยู่ในราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนจ่าย

ปัจจุบันคนทำงานในประเทศนี้ โดยเฉลี่ยเสียภาษีเงินได้ประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ ผู้ประกอบการในฐานะนายจ้างต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล และชำระเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง อาทิ เงินบำนาญ ประกันสุขภาพ และสวัสดิการสังคมอื่น

           น่าสนใจว่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกา (FICA Taxes) กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายฝ่ายละ 7.65% ของค่าจ้าง ประเทศไทยจ่ายฝ่ายละ 5% นายจ้างในสวีเดนต้องจ่ายสมทบในระบบประกันสังคมถึง 31.42%

แม้ว่าการจ้างพนักงานดูเหมือนเป็นภาระหนัก แต่นายจ้างก็ได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปพนักงานมีสุขภาพแข็งแรง รู้สึกมั่นคงในชิวิต ส่งผลให้การทำงานในองค์กรมีคุณภาพ

เลือกตั้งไทย...มองไกลถึงสวีเดน | ชิดตะวัน ชนะกุล

          เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรค SAP ได้รับความนิยมจากคนสวีเดนจำนวนมาก สะท้อนจากผลการเลือกตั้งที่พรรคได้รับคะแนนเสียงเป็นสัดส่วนสูงที่สุดตลอดมา

แม้ว่าในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลพรรคขั้วอนุรักษนิยม ได้แก่ Centre Party, People's Party, Moderates, Christian Democrats และ New Democracy

จะมีนโยบายลดภาษี ควบคู่กับการควบคุมบทบาทรัฐสวัสดิการ ลดผลประโยชน์บางประการที่ประชาชนเคยได้รับ ด้วยความกลัวว่ารัฐบาลจะตัดทอนสวัสดิการมากเกินไป

ในปี พ.ศ. 2537 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เทคะแนนให้พรรค SAP กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ในครั้งนี้ พรรค SAP ได้ประกาศสร้างเสถียรภาพทางการคลัง ด้วยการตัดทอนการใช้จ่ายภาครัฐ และเพิ่มภาษี เพื่อลดการขาดดุลของรัฐบาล

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 การขาดดุลงบประมาณและการว่างงานลดลง รัฐบาลพรรค SAP จึงฟื้นฟูนโยบายเดิม พร้อมทั้งขยายสวัสดิการสังคมบางส่วนเพิ่มเติม

เลือกตั้งไทย...มองไกลถึงสวีเดน | ชิดตะวัน ชนะกุล

         จะเห็นได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบรัฐสวัสดิการในประเทศสวีเดนประสบความสำเร็จ มาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเสียภาษี

เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐนำไปสร้างสวัสดิการประเภทต่างๆ ให้กับคนในสังคมทุกระดับ นอกจากนี้ ชาวสวีเดนมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่มีการทุจริต

          เมื่อพิจารณาดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ที่ใช้วัดการคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า ประเทศสวีเดนและประเทศรัฐสวัสดิการเพื่อนบ้าน เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุด 5 ลำดับแรกมาอย่างต่อเนื่อง

ชาวสวีเดนมีทัศนคติที่ชัดเจนว่า การทุจริตทุกระดับเป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถยอมรับ

         คนสวีเดนจะไม่ทำสิ่งไม่ดี และจะไม่ทนยอมให้ผู้อื่นทำสิ่งไม่ดีที่มีผลต่อส่วนรวม โดยไม่เลือกปฏิบัติ กล่าวโดยเฉพาะ คนสวีเดนไม่ยอมรับบุคคลที่มือไม่สะอาด มีประวัติด่างพร้อย มาเป็นตัวแทนของประชาชน

ดังนั้น การบริหารงบประมาณแผ่นดินจึงมีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง.