ลุ้น 7 เม.ย.ศาล ปค.สูงสุดชี้ชะตาแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 กทม.-สุโขทัย-สกลนคร

ลุ้น 7 เม.ย.ศาล ปค.สูงสุดชี้ชะตาแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 กทม.-สุโขทัย-สกลนคร

จับตา 7 เม.ย.ศาลปกครองสูงสุดนัดชี้ชะตา 4 คดีแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เผยตุลาการผู้แถลงคดีเสนอความเห็นควรยกฟ้อง เหตุเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม.86

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีนัดแรก ในที่คดี 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ได้แก่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. คดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สกลนคร คดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สุโขทัย และคดีที่นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จาก จ.สุโขทัย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ตามลำดับ

โดยในการพิจารณาคดีครั้งนี้ มีเพียง ผู้ฟ้องคดี 3 รายเดินทางมาแถลงปิดคดีที่ศาลด้วยตัวเองคือ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ผู้สมัคร ส.ส.กทม. นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.สุโขทัย และนายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ โดยต่างแถลงปิดคดีตรงกันว่า ประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 การแบ่งเขตการเลือกตั้ง รูปแบบที่ 1 เป็นการรวมแขวง/ตำบลเพื่อกำหนดเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์รวมเขตปกครองครอง/อำเภอต่าง ๆ เป็นเขตการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 มาตรา 27 กำหนด เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง และกระทบสิทธิของประชาชนสร้างความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และกระทบต่อจำนวนราษฎรผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก กกต.ขอส่งแถลงการปิคคดีทั้ง 4 คดีเป็นลายลักษณ์อักษร

หลังจากนั้นองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีก็ได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งเป็นตุลาการนอกองค์คณะแถลงความเห็นส่วนตัวที่องค์คณะจะนำไปประกอบการพิจารณาด้วย

โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นในทั้ง 4 คดี ว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2566 นี้ มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ทั้งในจำนวนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีกำหนดว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมทั้งส่วนของจำนวน ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นส่วนของ กรุงเทพมหานคร ที่เพิ่มจาก 30 คน เป็น 33 คน จ.สกลนคร เพิ่มจากเดิม 6 คน เป็น 7 คน และ จ.สุโขทัย เพิ่มจากเดิม 3 คน เป็น 4 คน ประกอบกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส.1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ตาม ประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 พบว่า จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และจ.สุโขทัย มีจำนวนมาก หรือ มีจำนวนน้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส.1 คน จนเกินไป การที่ กกต.ออกประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง จ.สกลนคร 7เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย 4เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณายกฟ้องในคดีนี้

หลังจบกระบวนนั่งพิจารณาคดี องค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนได้แจ้งคู่กรณีทุกฝ่ายว่าศาลนัดฟังคำพิพากษาคคีในวันที่ 7 เม.ย. 2566