30 มี.ค.ศาล ปค.สูงสุดนัดไต่สวนปมฟ้อง กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบ

30 มี.ค.ศาล ปค.สูงสุดนัดไต่สวนปมฟ้อง กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบ

ระทึกอีก! ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวน 30 มี.ค.นี้ ปมฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ชอบ 4 คดีรวด กทม.-สุโขทัย-สกลนคร

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 สำนักงานศาลปกครองแจ้งว่า ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนใน 3 คดีที่มีผู้ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประกาศกกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่16มี.ค.66 โดยคดีแรก เป็นคดีที่นายอรรถวิชช์สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นฟ้องว่าประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต หรืออำเภอหลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ทั้งที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 27 (1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้“รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” ประกาศแบ่งเขตของกกต.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนคดีที่ 2 เป็นคดีที่ นายพัฒ ตั้งเบญจผล  ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งส.ส.สุโขทัยในนามพรรคประชาธิปัตย์ ฟ้องว่า ประกาศแบ่งเขตดังกล่าวของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก การแบ่งเขตการเลือกตั้ง รูปแบบที่ 1 เป็นการรวมตำบลเพื่อกำหนดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 มาตรา 27 กำหนดไว้ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง และกระทบสิทธิของประชาชนสร้างความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และกระทบต่อจำนวนราษฎรผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 

คดีที่ 3 เป็นคดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ฟ้องว่าประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจ.สุโขทัยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงความคิดเห็นของผู้ฟ้องคดีซึ่งเหมาะสมกว่า รูปแบบดังกล่าวส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.สุโขทัยอย่างชัดแจ้ง ประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

และคดีที่4 เป็นคดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ฟ้องว่าประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจ.สกลนคร ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงความคิดเห็นของผู้ฟ้องคดีซึ่งเหมาะสมกว่า รูปแบบที่กกต.มีมติ ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย