เลื่อนฟังคำพิพากษา 30 พ.ค.คดี “รัชฎา” ฟ้อง “ผบก.ปปป.” ปมจับสดคากรมอุทยานฯ

เลื่อนฟังคำพิพากษา 30 พ.ค.คดี “รัชฎา” ฟ้อง “ผบก.ปปป.” ปมจับสดคากรมอุทยานฯ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่ง-คำพิพากษาคดี “รัชฎา” อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ ยื่นฟ้อง “พล.ต.ต.จรูญเกียรติ-พวก” รวม 7 คน คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำพยานหลักฐานเท็จ หลังเกิดเหตุบุกจับสดคาซองเงิน

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 23/2566 ระหว่าง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช โจทก์ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.  กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลย ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ, บุกรุก, ช่องโจรฯ

โดยคดีนี้ โจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องตามคำสั่งศาลโดยจัดทำคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว และโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเข้ามาอีกครั้ง โดยเป็นเพียงการชี้แจงให้ศาลทราบว่ามีการแก้ไขฟ้องในส่วนใดบ้าง โจทก์ขอใช้คำฟ้องฉบับแก้ไขที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นหลักในการพิจารณา

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจัดส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังศาลแล้ว ศาลให้โจทก์ตรวจดูเอกสารดังกล่าวและโจทก์ขอยื่นคำคัดค้านเอกสารของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เผยแพร่เอกสารถึงคดีนี้ ระบุว่า กรณีโจทก์ยังบรรยายฟ้องไม่ชัดเจนสำหรับความผิด 157 , 164 , 179, 200 ,ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 , 310 , 364 และ 365  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้ได้รับความขัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้โจทก์แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและหลังจากที่โจทก์ถูกจับกุมว่า 

1. โจทก์รู้จักกับจำเลยทั้งเจ็ดมาก่อนเกิดเหตุหรือไม่อย่างไร มีสาเหตุโกรธเคืองกันหรือไม่ อย่างไร และโจทก์รู้จักเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์จับกุมตามรายชื่อในบันทึกการจับกุมหรือไม่ อย่างไร มีสาเหตุโกรธเคืองกันหรือไม่ อย่างไร

2. พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ได้แก่ บุคคลที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมโจทก์ และโจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงในขณะถูกจับกุมหรือไม่ อย่างไร

3. พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุ คือ โจทก์ดำเนินการอย่างไรบ้าง หลังจากถูกจับกุมแล้ว

4. หลังถูกจับกุม โจทก์ถูกดำเนินการทางวินัยหรือไม่ อย่างไร

5. จำเลยทั้งเจ็ดมีพฤติการณ์ใดที่ทำให้โจทก์คิดว่าการดำเนินการให้โจทก์ถูกจับกุมนั้นเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์

โดยเบื้องต้นศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 30 มีนาคม 2566 กระทั่งศาลเลื่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นี้