“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” สั่งสอบแล้ว! ปม “แสนสิริ” เก็บเงินค่าขึ้นสะพานพระโขนง

“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” สั่งสอบแล้ว! ปม “แสนสิริ” เก็บเงินค่าขึ้นสะพานพระโขนง

“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ย้ำ กทม.ทำตามระเบียบราชการ ตรวจสอบไม่ยาก หลังรับเรื่องร้องจาก “ศรีสุวรรณ” ปม “แสนสิริ” เก็บเงินค่าขึ้นสะพานข้ามคลองพระโขนง สั่งสอบแล้ว เจ้าหน้าที่เอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 เวลา 13.00 น. บริเวณหน้าห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารฯ ว่า  วันนี้เมื่อเวลา 10.00 น. ได้รับทราบเรื่องราวร้องทุกข์จากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นเรื่องผ่านทาง นางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณียื่นคำร้องต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา และมีการเรียกเก็บค่าผ่านทางซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นเข้าใจว่าทางสะพานที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว เป็นทางสาธารณะที่ใช้ข้ามคลอง ซึ่งประเด็นคือ ทางสาธารณะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการผ่านทาง เรื่องนี้ทาง กทม.ขอรับไปตรวจสอบซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยาก เนื่องจากการดำเนินการทุกอย่างนั้นเป็นไปตามระเบียบของทางราชการอยู่แล้วโดยไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการดำเนินการแต่ต้องดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การปฏิบัติตามระเบียบ EIA ซึ่งการบังคับใช้ตามกฎหมาย กทม.ต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว โดยตามหลักการหากก่อสร้างบนที่ดินของเอกชน เอกชนสามารถดำเนินการเก็บค่าผ่านทางได้ จึงต้องขอตรวจสอบในแง่ของการอนุญาตก่อสร้างสะพาน และจุดประสงค์ของการสร้างสะพานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์อย่างไร ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างสะพานต้องมีการขออนุญาตกรุงเทพมหานคร(กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด ดังนั้นต้องตรวจสอบว่าเงื่อนไขในการก่อสร้างสะพานมีจุดประสงค์เพื่ออะไรเพื่อสาธารณะ หรือขอเป็นทางส่วนตัวของเอกชน ซึ่งการตรวจสอบจะมอบหมายให้ทางสำนักงานเขตวัฒนาเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้การก่อสร้างสะพานผ่านพื้นที่เอกชนหรือหมู่บ้านในรูปแบบนี้มีอยู่มากมายในกรุงเทพฯ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายศรีสุวรรณได้ร้องเรียนว่า บ.แสนสิริ ได้ขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษโครงการ The Base Park East และโครงการ The Base Park West โดยจัดทำรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วทั้ง 2 โครงการ โดยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน ฯลฯ นั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัท ที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระจำยอมนั้นด้วย ซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง บ.แสนสิริ นำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯ ออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ และต้องแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่าถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 14 ของระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2549 

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า แต่เมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กับมีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านสะพาน และถนนภาระจำยอมดังกล่าวจำนวน 10-20 บาทมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประมาณรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท โดยเป็นที่สงสัยว่าสำนักงานเขตวัฒนา หรือสำนักการโยธา ไม่ได้ดำเนินการใดๆ หรือบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน EIA ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจถือได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม. มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่อย่างไร จึงนำมาซึ่งการร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวน เอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็วที่สุด และสั่งการไปยังบุคคลหรือบริษัทที่เก็บค่าผ่านทางดังกล่าวให้คืนเงินทั้งหมดกลับคืนสู่ผู้จ่ายเงินไปก่อนหน้านี้ฐานลาภมิควรได้ หรือให้ กทม.นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณะต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์