“ศรีสุวรรณ” ยื่นหนังสือบี้ “ชัชชาติ” สอบ “แสนสิริ” ปมเก็บเงินสะพานพระโขนง

“ศรีสุวรรณ” ยื่นหนังสือบี้ “ชัชชาติ” สอบ “แสนสิริ” ปมเก็บเงินสะพานพระโขนง

ถึงคิว “ศรีสุวรรณ” อีกรอบ! บุก กทม.ยื่นหนังสือถึง “ชัชชาติ” ร้องสอบเจ้าหน้าที่ ปมปล่อย “แสนสิริ” เก็บเงินค่าผ่านทาง สะพานข้ามคลองพระโขนง อ้างไม่เป็นไปตาม EIA

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา แต่มีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า สืบเนื่องจาก บริษัทแสนสิริ ได้ขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษโครงการ The Base Park East และโครงการ The Base Park West โดยจัดทำรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯแล้วทั้ง 2 โครงการ โดยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน ฯลฯ นั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนาเพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระจำยอมนั้นด้วย

ในการขออนุญาตก่อสร้าง บริษัทแสนสิริ นำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯ ออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ และต้องแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่าถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 14 ของระเบียบ กทม. ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2549

นายศรีสุวรรณ ระบุด้วยว่า แต่ทว่าเมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กลับมีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านสะพานและถนนภาระจำยอมดังกล่าวจำนวน 10 – 20 บาทมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาทแล้ว โดยเป็นที่สงสัยว่าสำนักงานเขตวัฒนา สำนักการโยธา และหรือ กทม. ไม่ได้ดำเนินการใดๆ หรือบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน EIA เลยหรือไม่ หากไม่ดำเนินการอาจถือได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม. มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

“ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯ จึงจะนำความมาร้องต่อผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวน เอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไปโดยเร็ว และสั่งการไปยังบุคคลหรือบริษัทที่เก็บค่าผ่านทางดังกล่าวให้คืนเงินทั้งหมดกลับคืนสู่ผู้จ่ายเงินไปก่อนหน้านี้ฐานลาภมิควรได้ หรือให้ กทม.นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณะต่อไป” นายศรีสุวรรณ ระบุ