“ชัชชาติ” สั่งตามเรื่องด่วน! ปม “สวนชูวิทย์” เป็นสาธารณสมบัติหรือไม่

“ชัชชาติ” สั่งตามเรื่องด่วน! ปม “สวนชูวิทย์” เป็นสาธารณสมบัติหรือไม่

“ผู้ว่าฯ กทม.” รับหนังสือร้องเรียนจาก “ศรีสุวรรณ” ปมให้ตรวจสอบ “สวนชูวิทย์” ตกเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินแล้วหรือไม่ “ชัชชาติ” ยันจะดำเนินการใน 2 ส่วน ดูประเด็นการขออนุญาต-จ่ายภาษี พร้อมคัดสำเนาคำพิพากษาศาล ลั่นดำเนินการโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.66 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยภายหลังรับหนังสือจากนายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีขอให้ตรวจสอบ “สวนชูวิทย์” เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วหรือไม่ ว่า สิ่งที่ กทม. จะดำเนินการในรายละเอียดมี 2 ส่วน ส่วนแรกที่เกี่ยวข้องกับกทม. เช่น การขออนุญาต การจ่ายภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ที่ผ่านมา ส่วนที่ 2 คือต้องไปยื่นคำร้องขอคัดคำพิพากษา ตรงนี้เราไม่มีข้อมูลตรงนี้ เนื่องจากตอนที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา ก็ไม่ได้ส่งให้กทม. 

“สวนของคุณชูวิทย์ กทม.ไม่เคยเข้าไปดูแล ไม่เกี่ยวข้องกับทำสวน เพราะว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ไปลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น การเปิด-ปิด ก็เป็นการดำเนินการของทางสวน เรื่องนี้ กทม. รับไปตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจน ต้องมีการตรวจสอบในระยะเวลาว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว” นายชัชชาติ กล่าว

สำหรับหนังสือสอบถามของนายศรีสุวรรณ ถึงนายชัชชาติ กรณี “สวนชูวิทย์” ระบุว่า ตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ ม.ค. 2559 ในคดีรื้อบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทซอย 10 เมื่อปี 2546 โดยตัดสินลงโทษจำคุกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง และพวก 2 ปี ลดจาก 5 ปีที่ศาลอุทธรณ์เคยพิพากษาไว้ อันเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าหลังเกิดเหตุ นายชูวิทย์กับพวก ได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนแล้ว และยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

โดยที่ดินที่นายชูวิทย์นำไปยื่นศาลเพื่อขอลดโทษนั้น ถูกนำไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ เรียกว่า “สวนชูวิทย์” เป็นไปตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อศาล ที่จะยกที่เป็นสาธารณประโยชน์ แต่ทว่าล่าสุด สวนดังกล่าวไม่มีแล้ว เมื่อพื้นที่สวนดังกล่าวกำลังก่อสร้างพลิกโฉมเป็นอาคารสูงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ อันเป็นที่สงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมกันอย่างมากว่า การอุทิศที่ดินของนายชูวิทย์ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยมิได้นำไปจดทะเบียนนั้น จะถือได้ว่าที่ดินกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 โดยไม่จำต้องนำไปจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 นั้น จะถือว่ามีผลโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หากมีผลสมบูรณ์แล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย