คุก 20 ปี “อดีต ผจก.ใหญ่ TOT” ชดใช้พันล้าน ปมอนุมัติจ่ายเงินให้ บมจ.สามารถฯ

คุก 20 ปี “อดีต ผจก.ใหญ่ TOT” ชดใช้พันล้าน ปมอนุมัติจ่ายเงินให้ บมจ.สามารถฯ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาคุก 20 ปี “วรุธ สุวกร” อดีต ผจก.ใหญ่ “ทีโอที” สั่งชดใช้ค่าสินไหม 1 พันล้านบาทเศษ หลังอนุมัติจ่ายเงินให้ บมจ.สามารถฯ 1.4 พันล้านบาท โดยมิชอบ ไร้อำนาจดำเนินการ ถูกค้านแต่ไม่ฟัง ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 139/2565 ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง นายวรุธ สุวกร อดีตผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย กรณีถูกกล่าวหาว่า อนุมัติการจ่ายเงินจำนวน 1,485,000,000 บาท (ราว 1.4 พันล้านบาท) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า นายวรุธ จำเลย ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ บมจ.ทีโอทีฯ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย กล่าวคือ จำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่ บมจ.สามารถฯ จำนวน 1.485 พันล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงิน 10 ล้านบาทที่จำเลยมีอำนาจอนุมัติได้ ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯ ที่ 29/2546 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2546 ข้อ 2.1.2.5 และจำเลยมิได้ขออนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าวจากที่ประชุม บมจ.ทีโอทีฯ ทำให้ บมจ.สามารถฯ ได้รับชำระเงินค่าเสียหายไปจำนวนเกินกว่าที่ บมจ.ทีโอทีฯ ควรจะต้องจ่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ บมจ.ทีโอทีฯ และเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 525,370,000 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 8, 11 เบื้องต้นจำเลยปฏิเสธ

คดีนี้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ 3 ส.ค. 2565 ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณานัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และสืบพยานโจทก์และจำเลย 5 นัด รวมระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้อง ถึงวันอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษา เป็นเวลา 7 เดือน 13 วัน

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยอนุมัติสั่งจ่ายเงินให้แก่ บมจ.สามารถฯ เป็นจำนวนเงิน 1.485 พันล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกินกว่า 10 ล้านบาท จำเลยจึงต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีทีฯ เสียก่อน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขผูกพันในสัญญาคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯ ที่ 29/2546 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2546 ข้อ 2.1.2.5

เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องคดีแพ่งเป็นการฟ้องเรียกให้ บมจ.ทีโอทีฯ ชำระเงินให้แก่ บมจ.สามารถฯ จากการผิดสัญญา และเรียกค่าเสียหาย กรณีจึงไม่อาจเป็นการเจรจาหาข้อยุติเพื่อที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาได้ที่จะเป็นข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯ ที่ 29/2546 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2546 ข้อ 2.1.2.5 ได้

ทั้งการนำยอดเงินจำนวนเต็มตามฟ้องในคดีแพ่งมาเป็นหลักในการเจรจาต่อรองจึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่า บมจ.ทีโอทีฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและยอมรับผิดเต็มตามฟ้อง นอกจากนี้การเจรจาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดแนวทาง ก็มิได้ปฏิบัติตามความเห็นที่เป็นข้อสังเกตของที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯ ที่ 19/2551 เมื่อ 26 ก.ค. 2551 ประกอบกับจำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่ บมจ.สามารถฯ ในวันที่ 13 ต.ค. 2551 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 เดือน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯ ครั้งที่ 19/2551 กำหนดไว้ 

นอกจากนี้ก่อนและหลังจำเลยอนุมัติให้จ่ายเงินแก่ บมจ.สามารถฯ ได้มีการคัดค้านจากบุคคลภายในหน่วยงานของจำเลยหลายครั้ง โดยเฉพาะการยกเลิกเช็คคำสั่งจ่ายเงินให้แก่ บมจ.สามารถฯ เพราะฝ่ายการเงินและบัญชีคัดค้านเรื่องอำนาจจ่ายเงินของจำเลย แต่จำเลยยังอนุมัติให้มีการจ่ายเงินดังกล่าว โดยไม่หารือหรือขอความเห็นจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตอบข้อหารือ หรือนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจอนุมัติวงเงิน ซึ่งมากถึง 1,467,100,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ บมจ.ทีโอทีฯ กับเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.ทีโอทีฯ โดยทุจริต

ส่วนข้อที่จำเลยให้การและนำสืบปฏิเสธมา ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ทั้งการที่จำเลยเบิกความว่า ขอขยายระยะเวลา 1 เดือนด้วยวาจากับคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีฯแล้วนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณามาก่อน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง และต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บมจ.ทีโอทีฯ พร้อมดอกเบี้ยตามคำร้อง

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 จำคุก 20 ปี กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 1,062,147,006.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของเงินต้น จำนวน 525,370,000 บาท นับถัดจากวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ