อสส.สั่งตั้งคณะทำงานสาง 5 คดีใหญ่สั่งไม่ฟ้อง ปม "เสี่ยกำพล" ด้วย

อสส.สั่งตั้งคณะทำงานสาง 5 คดีใหญ่สั่งไม่ฟ้อง ปม "เสี่ยกำพล" ด้วย

อัยการสูงสุด สั่งรื้อ 5 คดีใหญ่ ตั้งคณะทำงานสางปมสั่งไม่ฟ้อง ทั้งปม "เสี่ยกำพล-เผาสวนงู" มีเรื่อง "แทนไท" รวมถึง "มาวินเบต" คดีแอมเฟตามีน 4 หมื่นเม็ดด้วย

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นตรวจสอบ ข้อเท็จจริง กรณีปรากฎเป็นข่าวตามสื่อมวลชนและที่มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่ประชาชนให้ความสนใจและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงาน 5 คณะ ให้มีอำนาจและหน้าที่ตามข้อ 1-9 และรายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสั่งคดีและข้อเสนอแนะอื่นๆตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการต่อไป

สำหรับรายละเอียดคำสั่งนั้น เป็นคำสั่งที่ 420/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข่าวสารและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด ด้วยสำนักข่าวเเห่งหนึ่ง เผยแพร่ข่าว ต้องเร่งรัดกวาด ขยะใต้พรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีการกล่าวถึง มีคดีจำนวนหลายคดี ที่กลายเป็นภาระและเป็นขยะใต้พรม ที่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร ต้องเร่งเก็บกวาด ขณะที่เวลาที่อยู่ ในตำแหน่งมีเพียง 1 ปี ซึ่งเวลาผ่านไปแล้ว 5 เดือน จึงเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 7 เดือน ถ้าไม่สามารถ สะสางสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ได้หมด ภาระนี้จะกลายเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนต่อไป

โดยตามข่าวดังกล่าวมี 5 คดี ประกอบด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต ,คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ,คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ,คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 4 เเสนเม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี และมี คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก ตามหนังสือร้องเรียนของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ฉบับลงวันที่ 14 ก.พ. 2566 ถึงประธาน ก.อ. อันเป็นกรณีเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19และมาตรา 27แห่งพรบ.องค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 จึงแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้เป็นคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข่าวสาร และเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อ ภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบดังนี้

คณะที่ 1 คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ (เสี่ยกำพล) กับพวก และคดีเผาสวนงูภูเก็ต ประกอบด้วย 1.นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รอง อสส.หัวหน้าคณะทํางาน 2.นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รอง อสส. 3.นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นคณะทํางาน

คณะที่ 2 คดีซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด กับพวก (บริษัทเครือเปรมชัยถูกกล่าวหารุกป่า)ประกอบด้วย 1.นายศักดา ช่วงรังษี รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทํางาน 2.นายโชคชัย ทิฐิกัจจธรรม คณะทํางาน 3.นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สคช.เเละรองโฆษก อสส.คณะทํางาน

คณะที่ 3 คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ประกอบด้วย 1.นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รอง อสส. หัวหน้าคณะทำงาน 2นายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ 3. นายคถา สถลสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เเละรองโฆษก อสส. เป็นคณะทำงาน

คณะที่ 4 คดีมาวินเบต ดอทคอม ประกอบด้วย นายสมเกียรติ คุณวัฒนานนท์ รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทํางาน นายชาติ ชัยเดชสุริยะ อธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย 3.นายทรงพล สุวรรณพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด เเละรองโฆษก อสส.

คณะที่ 5 คดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วย 1.นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รอง อสส.หัวหน้าคณะทํางาน 2.นายนิติ สุขเจริญ รองอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย 3.นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ เเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

โดยให้คณะทำงานทั้ง 5 ชุดมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงาน อัยการสูงสุด

2.จัดทำลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ในการดำเนินคดีที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่รับสำนวน และการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงต่อที่ประชุม ก.อ. และสาธารณชน

3.เรียกสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา

4.เชิญพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือ ความเห็นประกอบการตรวจสอบ

5.เรียกเอกสารจากหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดที่เก็บรักษาเอกสารเพื่อประกอบ การพิจารณา และให้หน่วยงานดังกล่าวให้ความร่วมมือจัดส่งเอกสารโดยพลัน

6.เชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ และขอเอกสารหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ให้หัวหน้า คณะทํางานฯ แต่ละคณะมีอำนาจลงนามในหนังสือออก

7.ให้หัวหน้าคณะทํางานแต่ละคณะมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมได้ตามความจําเป็น และเหมาะสม

8.ให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละคณะมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานให้สำเร็จ ลุล่วง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานได้ ตามที่เห็นสมควรและจำเป็น

9.รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับการสั่งคดี และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการในโอกาสแรก