“พิธา” ปลุกโหวตคว่ำ พ.ร.ก.ยื้อบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ลุยปฏิรูปทหาร-ตร.

“พิธา” ปลุกโหวตคว่ำ พ.ร.ก.ยื้อบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ลุยปฏิรูปทหาร-ตร.

“พิธา” ปลุกทุกพรรคร่วมกันโหวตคว่ำ พ.ร.ก.ยื้อบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ถาม “ประยุทธ์” ปล่อยกระบวนการล่าช้า เพราะเลือดเย็น-ไม่ใส่ใจ ยิ่งประวิงเวลา ยิ่งมีคนไม่ได้รับความยุติธรรม ย้ำจุดยืน “ก้าวไกล” ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ปฏิรูปกองทัพ-ตำรวจ

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาอนุมัติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 หรือ "พ.ร.ก.อุ้มหายฯ" ตอนหนึ่งว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ พ.ร.บ.อุ้มหาย ยังโดนอุ้มหายจากสภาฯ ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นฉันทามติเดียวระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล และระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. แต่กลับมาตกม้าตายเพราะเรื่องวัสดุอุปกรณ์อย่างกล้อง 

นายพิธา กล่าวว่า ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือน ต.ค. 2565 กำหนดให้เวลา 120 วันในการเตรียมตัว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วันในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือวันที่ 10 ก.พ. 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน

“คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหาย คงไม่เข้าใจว่าช้าไปเพียงหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวันเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมตัวแต่กลับไม่เตรียม ผมไม่รู้ว่าสาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ ความไม่ใส่ใจ หรือความเลือดเย็นทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ผมและพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้” นายพิธา กล่าว

นอกจากนี้ นายพิธา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจถึงประเด็นนี้ว่า การซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายหรือการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ มักถูกเลือกใช้เป็นเครื่องมือจัดการคนที่มีความคิดแตกต่างกับรัฐ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปรากฏเป็นรอยด่างของกระบวนการยุติธรรมอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2497 หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ปัญญาชนชาวไทยเชื้อสายมลายู ถูกบังคับสูญหาย หรือถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2534 ทนง โพธิ์อ่าน แกนนำขบวนการแรงงานที่ออกมาคัดค้านการทำรัฐประหาร ถูกบังคับสูญหาย ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม ปี 2547 ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนถูกบังคับสูญหาย ถือเป็นคดีคนหายรายแรกของประเทศไทยที่สามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม แต่การดำเนินทวงความเป็นธรรมก็เต็มไปด้วยอุปสรรค และจนถึงตอนนี้ยังลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ ปี 2557 ไม่นานก่อนการรัฐประหาร บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานที่กำลังมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกบังคับสูญหาย ปี 2563 ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกบังคับสูบหายที่กัมพูชา ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

หลังจากผลักดันมานานหลายปี จากทั้งภาคประชาสังคม ภาคประชาชน พรรคการเมือง และกระบวนการรัฐสภาผ่าน กมธ. กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ภายใต้ชุดคณะกรรมาธิการของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในที่สุดทุกฝ่ายทุกพรรคต่างเห็นตรงกันและร่วมผ่านกฎหมายดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีเนื้อหากฎหมายที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นกฎหมายที่ดีพอ สำหรับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้การบังคับสูญหายและการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย เราทุกคนต้องไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องเหล่านี้จะเกิดกับใครที่ไหนและเมื่อไรก็ได้

จุดยืนของพรรคก้าวไกล คือ การคืนความยุติธรรม ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพื่อป้องกันไม่ให้การบังคับสูญหายและการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีก ควบคู่ไปกับนโยบายปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปตํารวจ ราชการเพื่อราษฎร ส.ส. พรรคก้าวไกลจะเข้าสภาไปโหวตไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. เพื่อประวิงเวลาฉบับนี้ และขอเชิญผู้แทนราษฎรทุกพรรคทุกฝ่ายร่วมโหวตคว่ำด้วยกันเพราะทุกวันที่เราเลื่อนเวลาออกไป คือ ทุกวันที่มีคนถูกซ้อมทรมาน ถูกบังคับให้สูญหาย และไม่ได้รับความยุติธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ