เปิดเหตุผล 'ค้าน' ออก พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย

เปิดเหตุผล 'ค้าน' ออก พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย

นักวิชาการ ฝ่ายค้าน 'ค้าน' ออก พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย ชี้กระทบสิทธิประชาชน ฟังไม่ขึ้นเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความพร้อมและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (28 ก.พ. 2566)  กรณีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนบังคับใช้ พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายซ้อมทรมาน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศ ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยผ่านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เรื่อง ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

วันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่มีความพร้อมและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ถือเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน คณะรัฐมนตรี จึงออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อขอให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย จำนวน 5 มาตรา ให้ไปเป็นบังคับ 1 ต.ค. 2566

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาลงมติ พ.ร.ก. เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหาย หากส่งร่างให้ ส.ว. แล้วลงมติคว่ำ เพื่อให้ ส.ส. ยืนยันมติอีกครั้ง ย้ำอย่าให้เป็นภาระสภาชุดใหม่ ต้องจบที่สภาชุดนี้

ด้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.ประชาธิปัตย์ ค้านเลื่อนบังคับใช้พรบ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย บางมาตรา กระทบสิทธิประชาชนและไร้การคุ้มครองทางกฎหมาย ย้ำพร้อมลงชื่อร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย พ.ร.ก.ฉบับนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นักวิชาการ ได้ร่วมคัดค้าน พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายฯ ในมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป อีก 8 เดือน บังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 จากเดิมจะต้องเริ่มบังคับใช้ วันที่ 22 ก.พ. 2566

4 มาตรา ประกอบด้วย 

  • มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว 
     
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
     
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว 
     
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เร่งรัดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมสภาฯลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ หากไม่ทัน ยังสามารถเรียกประชุมวิสามัญได้ก่อนที่จะถึงวันที่ 24 มีนาคม หมดวาระของรัฐสภา แต่หากไม่ทำ ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจออกพ.ร.บ.แล้ว 

 ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่สภาแล้วขอให้จับตา ว่าพรรคการเมืองใดบ้าง ที่โหวตเห็นด้วยกับพ.ร.ก.นี้ ที่เลื่อนบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ออกไปอีก 8 เดือนบ้าง เพราะถือเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ส่วนฝ่ายค้าน เชื่อว่า ต้องโหวตไม่เห็นด้วยแน่นอน และมีมติไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.นี้ก็ถูกตีตกไป พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ก็สามารถบังคับใช้ทั้งฉบับได้ต่อ

เกรงว่า ครม. จะเตะถ่วงไปจนถึงยุบสภา หากเป็นเช่นนั้นจะต้องรอจนถึงการเลือกตั้งและต้องรอจนกว่าสภาจะกลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง คือ ก.ค.2566 

สำหรับ 4 มาตราที่ถูกเลื่อนออกไปนั้น ด้วยเหตุผลที่อ้างว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีความพร้อม ทั้งเรื่องอุปกรณ์ และตัวบุคคลากร จึงมีข้อสงสัยว่า มีประกาศตั้งแต่ 25 ต.ค. 2565 และบังคับใช้ภายใน 120 วัน ครบกำหนดคือ 22 ก.พ. 2566 ระหว่างนี้ ผู้มีอำนาจทำอะไรกันอยู่ ไม่เพียงแต่ ผบ.ตร. แต่ยังไปถึงนายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การเลื่อนออกไปเพราะความบกพร่องล่าช้าของตัวเอง เพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัยหรือเหตุที่ไม่อาจคาดหมายได้ ถึงได้ออกพ.ร.ก.นี้เพียงไม่กี่วันก่อนประกาศใช้ จึงมองว่า กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองใคร ระหว่าง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่ ที่อาจอุ้มหายหรือซ้อมได้ กับประชาชน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดี ภาคประชาชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศทุกๆด้าน ถูกชื่นชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกฝ่ายรอการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเต็มฉบับมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี วันที่ประกาศเลื่อนออกไป 4 มาตรา เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เนื่องจากไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นและเหตุผลที่ใช้อ้างขอเลื่อน ก็ฟังไม่ขึ้น

จึงอยากให้รัฐบาลทำให้ชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยการเอาพ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าสู่พิจารณาสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วภายในสัปดาห์นี้ และหวังว่า สภาผู้แทนราษฎรจะยืนหยัด คัดค้านต่อพ.ร.ก.ฉบับนี้ 

 นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เกิดคำถามว่า นักการเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการประจำไปแล้วหรือไม่ เพราะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายวิษณุ เครืองาน รองนายกรัฐมนตรี อนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่า ไม่มีความพร้อม ทำให้ก่อนที่จะถึงเวลาบังคับใช้กฎหมายจะเกิดการทรมานหรือซ้อม ไม่มีการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการควบคุม พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า เพราะเหตุใด ต้องประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2561  ผบ.ตร. ต้องการหนีอะไรหรือไม่