แอมเนสตี้ชง 3 ข้อเรียกร้องถึงฝ่ายค้าน จี้รัฐบาล เลิกยื้อใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย

แอมเนสตี้ชง 3 ข้อเรียกร้องถึงฝ่ายค้าน จี้รัฐบาล เลิกยื้อใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย

“แอมเนสตี้” ยื่นหนังสือถึงพรรคร่วม “ฝ่ายค้าน” ชง 3 ข้อเรียกร้องค้านเลิกยื้อใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ชี้รัฐบาลไทยต้องตระหนักถึงความจำเป็น คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ออกหน้ารับ ยันพร้อมจัดหนักในสภา เชื่อมีคนชงศาล รธน.ตีความยื้อไปก่อน

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ที่รัฐสภา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรมและญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย ยื่นข้อเรียกร้องต่อหัวหน้าพรรคการเมืองให้ยุติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป โดยมีสาระสำคัญคือการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายในบางมาตราออกไป หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.ก.อุ้มหายฯ

 

 

โดย น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ตัวแทนยื่นหนังสือ กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งฉบับ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองบุคคลให้รอดพ้นและปลอดภัยจากการละเมิดที่ร้ายแรงรวมทั้งคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเวลานาน ดังนั้น แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องพรรคการเมือง ในฐานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ ตรวจสอบและออกกฎหมาย ทั้งยังเป็นเสียงของประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อสารกับองค์กรหน่วยงานอื่นๆและสาธารณะเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจดังกล่าว ให้มีการดำเนินการดังนี้

1.ประกาศการใช้พระราชบัญญัติทั้งฉบับโดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา เพื่อทำตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) อีกทั้ง ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอื่น ๆ (OP-CAT)

2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวงเพื่อให้การ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และโดยเร็วที่สุด

3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทำความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน

โดยตัวแทนที่รับยื่นหนังสือจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เช่น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พร้อมอภิปรายเรื่องนี้ในสภาอยู่แล้ว มองว่าข้อเสนอของแอมเนสตี้ฯ สอดคล้องกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด มีความคาดหวังอย่างสูงว่าจะทำให้ประเทศไทยเข้าถึงอารยประเทศ ตลอดจนหวังว่าจะไม่มีการซ้อมทรมานอุ้มหายเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย และให้ความเป็นธรรมกับกรณีที่มีการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า แต่สิ่งที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และอ้างว่ามีเงื่อนเวลาไม่นาน เป็นเจตนาของการเตะถ่วงไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในแผนพัฒนาปฏิรูปประเทศไทยว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ วันนี้เปิดแล้วองค์ประชุมครบ ขอให้อภิปรายเดินหน้าถึงที่สุด เชื่อว่ามี ส.ส.อีกไม่น้อยลงมติคว่ำ พ.ร.ก. ที่สำคัญคือมีความพยามเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ส่วน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นชอบต่อกฎหมายฉบับนี้ และจะอภิปรายประเด็นนี้ เพื่อจะคว่ำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกไป ยืนยันว่าข้อเรียกร้องทุกองค์กรที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยยืนยันว่า ได้ยินเสียง รับไว้ และจะดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถและจะเรียกร้องให้ภาครัฐได้ยินเสียงของพวกเรา