“ส.ว.”เปิดเกมกดดัน“เพื่อไทย” กลยุทธ์“ทีม ป.”ดักทาง“แลนด์สไลด์”

“ส.ว.”เปิดเกมกดดัน“เพื่อไทย”  กลยุทธ์“ทีม ป.”ดักทาง“แลนด์สไลด์”

กลยุทธ์ของ "ทีม ป." ที่ต้องการเอาชนะในการเลือกตั้ง จึงงัด ยุทธวิธีทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้ คู่แข่ง ชนะ อย่างแลนด์สไลด์ กลไกที่พอมีน้ำหนักคือ "พรรคเรา" หรือ ส.ว.250คนที่นั่งรอในรัฐสภา เพื่อโหวต "นายกฯ"

 

การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ของ 2566 ไม่ใช่แค่การต่อสู้ ระหว่าง “นักเลือกตั้ง-พรรคการเมือง” เท่านั้น แต่พ่วงการต่อสู้ของ “พรรคเรา” ที่หมายถึง 250 ส.ว.ที่นั่งรอในรัฐสภา เพื่อใช้สิทธิ์โหวต “นายกฯ” เป็นครั้งสุดท้าย ตามที่รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลให้อำนาจไว้

 

เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน มี “ส.ว.” ส่งสัญญาณแรง ถึงการชี้ชะตาว่าที่แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ที่คาดหมายว่า “แพทองธาร ชินวัตร" หรือ อุ๊งอิ๊ง จะเป็น 1 ในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ

“ส.ว.”เปิดเกมกดดัน“เพื่อไทย”  กลยุทธ์“ทีม ป.”ดักทาง“แลนด์สไลด์”

ส.ว.ที่ออกมาเปิดประเด็น คือ “วันชัย สอนศิริ” ที่บอกเล่าการสนทนาแบบไม่อ้างที่มาว่า “แม้เพื่อไทยจะชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่ก็ไม่อาจชนะพรรคเราในรัฐสภา เพราะ ส.ว. จะไม่ลงคะแนนให้ ดังนั้นหาก เพื่อไทยอยากเอาชนะส.ว. ต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภา ที่มี 750 เสียง คือ ต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป"

 

หมายความว่า หากเพื่อไทยจะดัน “แพทองธาร” เป็นนายกฯ หญิงคนที่สอง ต้องรวบรวมเสียง ทั้งจากฝั่งพรรคที่เคยมีความแค้น และคู่อริ เข้าด้วยกัน ทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ เข้าไปด้วย โดยทฤษฎีอาจจคิดได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “ยากยิ่ง”

ส่วนเหตุผลที่ ส.ว.จะไม่ลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทย เพราะ “แพทองธาร” คือสายตรงของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองของ ส.ว.ปัจจุบัน ที่มีประวัติสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลือง - พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ หาก “คนชินวัตร” ถูกเสนอชื่อตามกติการัฐธรรมนูญสู่รัฐสภาอาจจุดชนวนความขัดแย้งและความไม่สงบขึ้นได้

“ส.ว.”เปิดเกมกดดัน“เพื่อไทย”  กลยุทธ์“ทีม ป.”ดักทาง“แลนด์สไลด์”

การออกมาส่งสัญญาณของ ส.ว.ที่หมายกดดันให้มีการเปลี่ยนตัวแพทองธารนั้น ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่หวั่นไหวกับเรื่องนี้ เพราะยังมั่นใจต่อคะแนนนิยม และยุทธศาสตร์ ตัวแทนทักษิณแบบสายตรงที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้แบบแลนด์สไลด์ เนื่องจากผลโพลของทุกภาคของสถาบันที่น่าเชื่อถือ ชี้ชัดว่ายุทธวิธีนั้นเดินมาถูกทาง

 

ดังนั้น กลเกมของส.ว.ที่อาจมีเบื้องหลัง-รับงานจาก “ทีม ป.” ที่เตรียมลงเลือกตั้ง เพื่อดักทาง “แลนด์สไลด์” ดูแล้วในชั้นนี้ไม่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

อย่างไรก็ดี ในประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ที่ ส.ว.วันชัย ยกมา กล่าวอ้าง ต้องยอมรับว่า ลึกๆ แล้ว เหมือนเป็น “คำขู่” ที่ซ่อน "เงาหลอน” ว่าหากเกิดความขัดแย้ง กลไกของรัฐสภาเกิดเดดล็อค ไม่สามารถเลือกตัวนายกฯได้ในเวลาที่เหมาะสม อาจมีกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการประชาธิปไตย

มีมุมมองจาก “นักการเมือง-นักวิชาการ” มองว่า ปัจจัยความเลวร้ายนั้น อาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ ความเป็นเอกภาพของ ส.ว. ในปีสุดท้ายก่อนหมดอำนาจนั้น ไม่ได้เข้มแข็งเท่ากับปี 2562 ดังนั้น “สิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกฯ” จึงจะเป็นไปโดยอิสระ และคำนึงถึงปัจจัยอื่นมากกว่าการตอบแทนบุญคุณ

 

ประเด็นของ ส.ว.ไม่มีเอกภาพ ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้ที่เคยเลือกส.ว.เข้ามาทำหน้าที่ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปัจจุบัน ไม่ได้กินข้าวหม้อเดียวกัน ภายใต้ชื่อพรรคพลังประชารัฐ อีก

“ส.ว.”เปิดเกมกดดัน“เพื่อไทย”  กลยุทธ์“ทีม ป.”ดักทาง“แลนด์สไลด์”

ทำให้ ขั้วของส.ว. ต้องแตกแถวการสนับสนุน แม้ เสรี สุวรรณภานนท์ จะบอกว่า ส.ว. มีธงจะเลือกนายกฯ จาก 2 ชื่อ คือ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังคือ การเลือกตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เพื่อให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด

 

ดังนั้นหาก ส.ว.จะดับฝันแลนด์สไลด์ ต้องตกลงกันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจะแก้เกมฝ่ายการเมืองอย่างไร ที่ไม่ทำให้สภาสูงสิ้นศรัทธา และปลุกกระแส “สภาเดี่ยว” ขึ้นมาอีกครั้ง

 

ปัจจุบัน ส.ว.ปัจจุบันถูกแยกเป็น 2 ขั้วใหญ่ คือขั้วของ “บิ๊กตู่” มี “พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร” คอยขับเคลื่อนร่วมกับส.ว. สายธุรกิจ-อดีตข้าราชการ อีกขั้วคือ “ขั้วบิ๊กป้อม” มี “ส.ว.สายวิชาการ-นักเคลื่อนไหว” ร่วมกันขับเคลื่อน 

“ส.ว.”เปิดเกมกดดัน“เพื่อไทย”  กลยุทธ์“ทีม ป.”ดักทาง“แลนด์สไลด์”

ทั้งนี้ยังมีอีกกลุ่ม แต่เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุนขั้วใด แต่จะเลือกใช้ความอิสระในการทำหน้าที่

 

แม้ ส.ว.กลุ่มใหญ่ จะมีจุดยืนสนับสนุน “นายของตัวเอง” อย่างแจ่มชัด และประกาศปิดรับ “ขั้วตรงข้าม”

 

แต่หลังการเลือกตั้ง อย่าลืม คำนึงถึง เสียงของประชาชน เหมือนกับที่ ส.ว.มักอ้างเสียงประชาชน 16.8 ล้านเสียง ที่รับ รัฐธรรมนูญ 2560 และหนุนคำถามพ่วงที่ให้อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ เพื่อปกป้องไม่ให้ “ฝ่ายการเมือง” แก้ไขกติกาการเมืองได้โดยง่าย.