กทม.จับมือ ป.ป.ช.ตรวจสอบ 29 คู่สัญญาเอกชน 4.3 หมื่นล้าน ป้องปรามโกง

กทม.จับมือ ป.ป.ช.ลุยตรวจสอบ “คู่ค้า-คู่สัญญา” เอกชน 29 โครงการ วงเงินกว่า 43,454 ล้านบาท กลไกส่งเสริมคุณธรรม-ความโปร่งใส ป้องปรามทุจริต

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 เวลา 09.30 น. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร หารือข้อราชการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อร่วมหาแนวทางในการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร(ก.ก.) สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)

โดยในที่ประชุมแจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในการประชุม ครั้งที่ 110/2565 เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2565 อนุมัติรายละเอียดโครงการตามแผนปฏิบัติการและแผนการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG: Together against Corruption-Tac) สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 

กทม.จับมือ ป.ป.ช.ตรวจสอบ 29 คู่สัญญาเอกชน 4.3 หมื่นล้าน ป้องปรามโกง

สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาคเอกชน ที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ของกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น สำนักการโยธา 11 โครงการ จำนวนคู่สัญญา 11 ราย วงเงินงบประมาณ 1,141,909,108 บาท สำนักการระบายน้ำ 7 โครงการ จำนวนคู่สัญญา 6 ราย วงเงินงบประมาณ 12,410,259,738 บาท และ สำนักสิ่งแวดล้อม 14 โครงการ จำนวนคู่สัญญา 11 ราย วงเงินงบประมาณ 29,629, 253,725 บาท รวมทั้งหมด 32 โครงการ 29 สัญญา วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 43,454,422,566 บาท 

กทม.จับมือ ป.ป.ช.ตรวจสอบ 29 คู่สัญญาเอกชน 4.3 หมื่นล้าน ป้องปรามโกง

โดยจะใช้แนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชน ที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors) หรือ ITAGC (ไอ-แทค) ภายใต้เครื่องมือ 4 เครื่องมือ ประกอบด้วย 

1.การรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน ITAGC INTERNAL (ITAGC-I) (สำหรับภาคเอกชน) เป็นการวัดการรับรู้จากบุคลากรของหน่วยงาน ได้แก่ ผู้บริหาร/พนักงานในฝ้ายงานด้านการขาย การตลาด การเงิน/บัญชี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการกับหน่วยงานภาครัฐโดยตรง 

2.การรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ITAGC EXTERNAL 1 (ITAGC-E1) (สำหรับภาครัฐที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญา) เป็นการวัดการรับรู้จากบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญาในโครงการ ได้แก่ ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการโดยตรง (กับภาครัฐ เจ้าของโครงการ) 

กทม.จับมือ ป.ป.ช.ตรวจสอบ 29 คู่สัญญาเอกชน 4.3 หมื่นล้าน ป้องปรามโกง

3.การรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ITAGC EXTERNAL 2 (ITAGC-E2) (สำหรับหน่วยตรวจสอบ) เป็นการสอบทานข้อมูลการทุจริตในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และการตรวจสอบความสามารถในการดำเนินการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาภาครัฐของ ITAGC ได้แก่ กรณีร้องเรียน ไต่สวน หรือชี้มูลการทุจริต

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานจากสำนักงาน ป.ป.ข. และสำนักงาน ป.ป.ท. กรณีร้องเรียนไต่สวน หรือชี้มูลการทุจริตในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต่อหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีคำวินิจฉัยแล้วว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา ทะเบียนการประกอบธุรกิจที่ถูกต้องสอดคล้องกับฐานข้อมูล ความสามารถในการประกอบกิจการและดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง เช่น การเสียภาษีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และความเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการกับหน่วยงานภาครัฐและสถานที่ประกอบการมีอยู่จริง 

4.การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ITAGC OPEN DATA (ITAGC-O) (สำหรับภาคเอกชน) เป็นการประเมินการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส สนับสนุนการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาภาครัฐที่ดีบนเว็บไซต์หลักและ/หรือรายงานประจำปีที่เผยแพร่ของหน่วยงาน โดยมีระยะเวลาประเมินเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66  เป็นต้นไป

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานคร ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ในการดำเนินโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG: Together against Corruption-Tac) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมภาครัฐ ภาคเอกชนให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ในเรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมาก หลังจากนี้คงได้ประสานความร่วมมือระหว่าง กทม. ,ป.ป.ช. , ป.ป.ท. และหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ในการดำเนินงานต่อไป