กกต.เปิดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ใช้ขั้นต่ำ 3 แบบ รับฟังความเห็น 10 วัน

กกต.เปิดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ใช้ขั้นต่ำ 3 แบบ รับฟังความเห็น 10 วัน

เช็กได้ที่นี่! กกต.เปิดรายละเอียดวิธีการ “แบ่งเขต” เตรียมพร้อมเลือกตั้ง 2566 ต้องใช้ขั้นต่ำ 3 รูปแบบ เปิดให้ “ประชาชน - พรรคการเมือง” แสดงความเห็น 10 วัน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์ กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง 2566 โดยระบุว่า หลังจากออกประกาศ กกต.เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2566 และประกาศ กกต.เรื่องจำนวนสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 พร้อมให้ความเห็นชอบกรอบระยะเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้สำนักงาน กกต.จังหวัด ดำเนินการดังนี้

1.จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มากกว่า 1 คน ให้ ผอ.กกต.จังหวัด ทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎร ในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วย

  • รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต
  • จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก
  • เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง
  • แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2562 และมีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้น ไม่เกินจำนวนผลต่างที่กำหนดไว้ ให้จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 และประกาศรับฟังความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

กกต.เปิดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ใช้ขั้นต่ำ 3 แบบ รับฟังความเห็น 10 วัน

2.ให้ดำเนินการปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ ณ สำนักงาน กกต.จังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้รวมถึงศาลาว่าการ กทม. สำนักงานเขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา ด้วย และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

3.จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน ให้ดำเนินการปิดประกาศเขตเลือกตั้ง ส.ส. ไว้ ณ สำนักงาน กกต.จังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

กกต.เปิดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ใช้ขั้นต่ำ 3 แบบ รับฟังความเห็น 10 วัน

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์