ปี 62 ก็แบบนี้! กกต.แจงคำนวณคนไม่ใช่สัญชาติไทย แบ่งเขตเลือกตั้ง 66

ปี 62 ก็แบบนี้! กกต.แจงคำนวณคนไม่ใช่สัญชาติไทย แบ่งเขตเลือกตั้ง 66

“ปกรณ์” กกต.แจงละเอียด ปมถูกกล่าวหาคำนวณคนไม่ใช่สัญชาติไทยไปแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ยันทำตาม รธน.ต้องนับรวมทั้งหมด ปี 62 ก็ทำแบบนี้ แจงละเอียดไทม์ไลน์เลือกตั้ง พร้อมหมดจะยุบสภา-ครบวาระ ปัดแบ่งเขตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ลั่นทำตามกฎหมายทุกอย่าง

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ กกต. แถลงข่าวในประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังถูกนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต.ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการคำนวณจำนวน ส.ส.ของ กกต. เพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง 2566 โดยอาจนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วยนั้น

นายปกรณ์ กล่าวว่า 3 วันนี้มีข่าวดังมากเกี่ยวกับประกาศของ กกต.ในเรื่องจำนวนประชากร เบื้องต้นต้องแยกให้ออกก่อนว่า จำนวนราษฎรตามมาตรา 86 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานทะเบียนราษฎรตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีจัดเลือกตั้ง 

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า การประกาศของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น ก่อนหน้านี้จนถึงปี 2557 จะประกาศราษฎรรวมชายหญิงและคนไม่ใช่สัญชาติไทยรวมกันทั้งหมด ต่อมาในปี 2558 เป็นปีแรกที่ประกาศแยกชาย หญิง ทั้งสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทย หลังจากนั้นมีการปฏิบัติแบบนี้เรื่อยมา กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562 ก็ประกาศแบบนี้ มีการถามความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นสอดคล้องกับ กกต.ว่า การคำนวณจำนวนราษฎรนั้น ต้องคิดรวมหมดคนที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติไทย และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำมาตลอด สามารถขอหลักฐานจาก กกต.ได้ นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นแบบนี้ ในการเลือกตั้งปี 2562 ก็ทำแบบนี้ทั้งหมด ปีนี้จึงทำเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่อยากชี้แจง และมาทำความเข้าใจ

  • แจงละเอียดไทม์ไลน์เลือกตั้ง 29 วัน

นายปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับ สำนักงาน กกต.ดำเนินการเมื่อ 30 ม.ค. 2566 เห็นชอบร่างระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองจำนวน 5 ฉบับ โดยเมื่อระเบียบและประกาศดังกล่าวทั้ง 5 ฉบับถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดทันที ต้องดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะเร่งรัดระยะเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนให้น้อยลงหรือรวดเร็วขึ้น โดยมีขั้นตอนการดำเนินการรวม 29 วัน ดังนี้

  1. ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดและ กทม.ดำเนินการจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบภายใน 3 วัน
  2. ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วันนับแต่ปิดประกาศ คือระหว่างวันที่ 4-13 ก.พ. 2566
  3. สำนักงาน กกต.จังหวัด และ กทม.รวบรวมความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน จัดทำสรุปต่อที่ประชุม กกต.พิจารณา
  4. กกต.ประชุมเพื่อพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 77 จังหวัด 364 เขตเลือกตั้ง
  5. ส่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ปี 62 ก็แบบนี้! กกต.แจงคำนวณคนไม่ใช่สัญชาติไทย แบ่งเขตเลือกตั้ง 66  

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ตลอดเวลาไม่ได้นิ่งนอนใจ เราทำทุกวัน เจตนาสื่อสารทำความเข้าใจในเรื่องระยะเวลา ถ้ายุบสภามีเวลา 60 วัน ถ้าครบกำหนดสภา มี 45 วัน ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีครบกำหนด เวลาเราเหลือเฟือ ถามว่า ถ้ายุบสภาเรามีเวลามากกว่ากรณีสภาครบวาระ 15 วัน เราจึงได้กล้าที่จะพูดว่า เราพร้อมแล้วจัดเลือกตั้ง

“ขอบคุณท่านนายกฯ ท่านบอกว่าจะไม่ก้าวล่วง กกต. ทำให้เห็นว่า การประสานงาน เป็นสิ่งที่ออกมาในรูปแบบที่ดี คงเข้าใจระยะเวลาแล้ว การที่มีน้ำใจ หวังดีกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อาจส่งผลร้ายกลับมาที่เรา เพราะความไม่เข้าใจ การที่ไม่ได้ศึกษาว่า กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้อย่างไร แต่เราก็ไม่ว่าอะไร สะท้อนถึงแนวคิด สะท้อนถึงความเห็น เรารับฟังตลอด เรารับฟังแล้วถ้ามันถูก มันชอบ เรานำมาปฏิบัติ” นายปกรณ์ กล่าว

  • ยุบสภา-หมดวาระพร้อมจัดเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายรวมถึง กกต.ขยับเตรียมพร้อมจัดการเลือกตั้ง อาจมีบางฝ่ายกังวลถ้ามียุบสภาไทม์ไลน์ กกต.จะไม่ทัน วางแผนอย่างไร นายปกรณ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมียุบสภาหรือไม่ แต่ไม่ว่ายุบสภาหรือสภาครบวาระ เราทำได้ 2 อย่างตามที่เรียนข้างต้น เราพร้อมและมีเวลาทำได้เต็มที่

เมื่อถามว่า มีบางพรรคร้องเรียนปัญหาการแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. กกต.มีการตรวจสอบหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า กกต.กลาง กกต.กทม. และ กกต.จังหวัด ดูแลอย่างเต็มที่ พร้อมรวบรวมและส่งเรื่องขึ้นมาให้เราตลอดเวลา ตอนนี้ยังมีเรื่องร้องเรียนไม่มาก แต่สิ่งที่อยากให้เป็นข้อสังเกตไว้คือ การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้นต้องดูว่า 1.ผู้สมัคร 2.ผู้ใด คำว่าผู้สมัครตอนนี้มีแล้วหรือไม่ คำว่าผู้ใดหมายถึงต้องไปจูงใจให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตอนนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วหรือไม่ ดังนั้นองค์ประกอบหลายอย่างบางครั้งอาจไม่ถูกใจผู้ร้อง แต่ กกต.เก็บรวบรวมข้อมูลไว้พิจารณาตามกฎหมายทั้งหมด เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก

  • ปัดแบ่งเขตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ลั่นทำตามกฎหมาย

เมื่อถามถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ไม่เหมือนปี 2562 ถ้าจังหวัดทำไม่ได้ กกต.กลางจะแบ่งตามความเหมาะสมหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ลงไปเยี่ยม กกต.จังหวัดประมาณ 30 แห่ง ไม่มีจังหวัดไหนบอกว่าทำไม่ได้ เขาเตรียมการไว้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องดำเนินการตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ส่วนกรณีการบางสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่าปี 2562 กกต.แบ่งเขตเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า กกต.ลงไปดูพื้นที่เกิดเหตุแล้ว จ.สุโขทัย ดำเนินการถูกต้อง ทั้งสภาพภูเขา สภาพภูมิประเทศ ความกว้างไม่ใช่เส้นก๋วยเตี๋ยว กว้างเป็นกิโลเมตร เพราะฉะนั้นท่าน (สื่อ) สามารถพูดได้ กล่าวหาได้ เราไม่ว่าอะไร แต่เราทำตามกฎหมายทุกอย่าง