ราชกิจจาฯแพร่หลักเกณฑ์แบ่งเขต เปิดไทม์ไลน์ก่อนเลือกตั้ง 66

ราชกิจจาฯแพร่หลักเกณฑ์แบ่งเขต เปิดไทม์ไลน์ก่อนเลือกตั้ง 66

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหลักเกณฑ์แบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง กำหนดจำนวนราษฎรเฉลี่ย 165,226 คนต่อ 1 ส.ส. เปิดไทม์ไลน์ก่อนเลือกตั้ง 66 ใช้เวลากี่วัน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 โดยกำหนดจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565  มีจำนวน 66,090,475 คน  จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 165,226 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน รวมทั้งประกาศ กกต. เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีสาระสำคัญ ดังนี้

เมื่อ กกต.ประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกันแล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วันนับแต่วันปิดประกาศ 

โดยแต่ละรูปแบบ ประกอบด้วย

1.รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอ หรือตำบลเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต

2.จำนวนราษฎรแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้สะดวก

3.เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง

4. แผนที่แสดงรายการของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ให้ติดประกาศไว้ ณ สำนักงาน กกต.จังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัดรวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ

ราชกิจจาฯแพร่หลักเกณฑ์แบ่งเขต เปิดไทม์ไลน์ก่อนเลือกตั้ง 66

อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนให้ ผอ.กกต.จังหวัด นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมือง และประชาชนในจังหวัดประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดแล้วรวบรวมสรุปความเห็น และข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดพร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบเรียงลำดับความเหมาะสม เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันถัดไป เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับแล้วและดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ ให้ กกต.ประกาศกำหนด ส.ส.แบบแบ่งเขตที่แต่ละจังหวัดพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด